ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus—ยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงทุกวันนี้ ถึงความเหมาะสมของการนำนโยบายเมดิคัลฮับมาใช้ในประเทศไทย นโยบายนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทยแต่อย่างใด ก่อกำเนิดอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่ยังคงเป็นที่ถกเถียง ว่าผลกระทบและจุดจบของนโยบายนี้จะเป็นเช่นไร

ในการศึกษาจุดกำเนิดของนโยบายเมดิคัลฮับ โดย นพ.สุธีร์ รัตนมงคลกุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(องครักษ์)พบว่า หลังยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูในปี พ.ศ. 2533 ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเติบโตเป็นอย่างมาก เนื่องจากความเป็นอยู่ของประชาชนดี มีกำลังซื้อการบริการ เตียงในโรงพยาบาลเอกชน จึงเพิ่มสูงเป็นสองเท่าจนถึงกว่า 40,000 เตียง แต่ภายหลังวิกฤตฟองสบู่ในปี พ.ศ. 2540 ผู้ป่วยมีกำลังซื้อลดลงฮวบฮาบ โรงพยาบาลเอกชนบางกลุ่มจึงเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปสู่ผู้ป่วยต่างชาติ เพื่อชดเชยผู้ป่วยที่หายไป และมีการทำการประชาสัมพันธ์การให้บริการในต่างประเทศ

ต่อมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ซึ่งคาดว่า ขณะนั้นในปีพ.ศ.2546 ประเทศไทยมีรายได้ถึง 19,826 ล้านบาท จากผู้ป่วยต่างชาติประมาณ 730,000 คนเกิดการระดมสมองในหมู่ผู้ที่เกียวข้องและผู้เชี่ยวชาญเพื่อการทำแผน “ศูนย์กลางสุขภาพของเอเชีย” ซึ่งก่อรูปสร้างตัวขึ้นในปีพ.ศ. 2547 เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ในการรองรับผู้ป่วยต่างชาติ แต่ก็มีการริเริ่มนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคมาเป็นนโยบายคู่ขนาน

ล่าสุด รัฐบาลภายใต้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กำหนดแนวทางการพัฒนานโยบายเมดิคัลฮับ โดยแบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1.ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (wellness hub) 2.ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (medical service hub) ซึ่งรวมต่อยอดกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น สปา3.ศูนย์กลางการศึกษางานวิชาการและงานวิจัย (academic hub) 4.ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (product hub) และมีการอนุมัติเดินหน้าปรับปรุงกรอบแผนยุทธศาสตร์นโยบาย พ.ศ. 2557-2561 และเปิดโอกาสให้โรงเรียนแพทย์มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อรองรับนโยบายอีกด้วย เช่น รพ.ศิริราช ที่เพิ่งมีการเปิดส่วนเอกชน “ปิยมหาราชการุณย์” ในรั้วโรงเรียนเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

หากไล่เรียงดูความเป็นมาของนโยบายเมดิคัลฮับ จะเห็นได้ชัดว่า นโยบายก่อเกิดเพื่อหารายได้จากความต้องการที่สูงขึ้นในตลาดสุขภาพ ดำเนินไปโดยการหล่อเลี้ยงของเม็ดเงิน และปลายทางข้างหน้าคงจะอยู่ที่ความคาดหวังต่อกำไรมหาศาลไม่ต่างจากจุดก่อกำเนิดของนโยบาย แต่ผลกระทบระหว่างทางนั้นยังคงเป็นคำถาม

นโยบายเมดิคัลฮับเป็นผลพวงหนึ่งของปรากฎการณ์โลกาภิวัตน์ และได้รับอิทธิพลจากลัทธิเสรีนิยมที่กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ เมื่อโลกไร้พรมแดน จึงเกิดความเชื่อมั่นว่าการลงทุนสามารถทำได้อย่างเสรีภายใต้กรอบกฎหมาย เกิดรูปแบบการลงทุนที่เป็นลักษณะของ Mass Production ไม่ว่าจะเป็น โรงงานผลิต อสังหาริมทรัพย์ หรือเกษตรกรรมเพื่อการส่งออก  ส่วนทางด้านการบริการทางการแพทย์นั้น ได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ของหมอและคนไข้ไปเป็น “ผู้ขาย” และ “ผู้ซื้อ” ต่างฝ่ายต่างตอบโจทย์ความต้องการของตน มิใช่ลักษณะของการให้บริการทางการแพทย์ในอดีตของไทย ที่ตั้งอยู่บนฐานของ “ผู้ให้” และ “ผู้รับ”

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับความสนใจจากนานาชาติในด้านการลงทุน และมีแนวโน้มที่การลงทุนจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาต้นทุนและแรงงานที่ถูก สินค้าที่ส่งออกจึงมีราคาเบื้องต้นไม่แพงเท่าที่วางขายในประเทศนำเข้า การลงทุนด้านการแพทย์ก็เช่นกัน แม้ในกัมพูชาก็เริ่มมีผู้สนใจอยากลงทุนเปิดโรงพยาบาล

แต่หากดูกรณีศึกษาในประเทศเพื่อนบ้านจะพบว่า ผลกระทบของการลงทุนแบบเสรีนิยมมักลอยแพคนท้องถิ่นอย่างเลี่ยงไม่ได้  เช่นในกรณีศึกษาของจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีการแผ่ขยายของโรงงานอย่างรวดเร็ว เพื่อสนองความต้องการด้านตลาดจากประเทศไทย รัฐบาลได้ให้สัมปทานพื้นที่ให้กับบริษัทเอกชนหลายราย จนเกิดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ชาวบ้านถูกริดรอนที่ทำกิน

ในกรณีศึกษาของจังหวัดบ่อแก้ว ประเทศลาว รัฐบาลได้ปรับใช้นโยบายเกษตรกรเพื่อการค้าขายและส่งออก ทำให้พื้นที่ป่าถูกไถกลบเป็นวงกว้างเพื่อเพิ่มผลิตผล ที่ดินตกอยู่ในมือของนายทุนใหญ่ เพราะเฉพาะผู้มีเงินทุนเท่านั้นที่จะสามารถทำเกษตรกรขนาดใหญ่ได้  แต่ชาวบ้านกลับไม่ได้รับปันผลจากนโยบาย และไม่สามารพึ่งพาการหาของป่าจากป่าเดิมที่ถูกเปลี่ยนกลายเป็นไร่เกษตรกรรม

น่าสนใจที่ว่า รัฐบาลของจากทั้งสองกรณีศึกษามีความพยายายามที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้กับประเทศ แต่ในทางตรงกันข้าม นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลกลับทำให้เกิดความยากจนในระยะยาว เพิ่มปัญหาสิ่งแวดล้อมและความขัดแย้งในสังคม แต่จนบัดนี้ รัฐบาลก็ยังคงขับเคลื่อนนโยบายต่อไปโดยที่ไม่มองหาความสมดุลของการพัฒนาและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

เมื่อย้อนกลับมาดูนโยบายเมดิคัลฮับของรัฐบาลไทย จุดประสงค์ของนโยบายไม่ต่างจากกรณีศึกษา ที่ผ่านมา รัฐบาลได้สร้างช่องทางอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ให้บริการและผู้ป่วย เช่น มีการเสนอให้ยกเว้นภาษีขาเข้าของอุปกรณ์ทางการแพทย์และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 100% ในปีพ.ศ.2553 มีการอนุมัติงบประมาณสองพันล้านเพื่อพัฒนาเมดิคัลฮับทางภาคเหนือเมื่อปีที่แล้ว และมีการเสนอพัฒนาศูนย์เมดิคัลฮับที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นสี่พันล้านบาท และล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการแพทย์เพื่อชาวต่างชาติภายใต้ต่อนโยบายเมดิคัลฮับ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนไทยและชาวต่างชาติก็เป็นได้

ปัจจัยของการขับเคลื่อนนโยบายเมดิคัลฮับมิได้อยู่ที่รัฐบาลไทยเท่านั้น แต่อยู่ที่ทุนและตลาดทั้งในและนอกประเทศอีกด้วย จากนี้ไป สุขภาพที่ดีของคนไทยคงต้องวัดดวงกับความเข้มแข็งของรัฐบาลไทย ว่าจะมีแรงต้านพอที่จะไม่ถูกยั่วยุโดยการรุกคืบของทุนหรือไม่  

 มิเช่นนั้น คนไทยก็จะถูกลอยแพด้วยการรักษาสองมาตรฐานอย่างเลียงไม่ได้ และนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคอาจจะต้องกลายเป็นนโยบายอนาถาไปโดยปริยาย