ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -แม้กฎหมายประกันสังคมจะมีสภาพบังคับให้ลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างทุกคน ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เดือน ก.ค. 2556 ระบุว่ามีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 9,653,813 คน

น่าสนใจว่า เมื่อกฎหมายมีสภาพบังคับโดยทั่วไป ไม่ใช่การประกันตนตามความสมัครใจ ในจำนวน 9,653,813 คนนี้ จะต้องมีแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วรวมอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง

ทว่าในความเป็นจริง ยังมีแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมากที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว แต่ยังไม่เข้าสู่ระบบประกันสังคมเสียที

บัณฑิต แป้นวิเศษ หัวหน้าฝ่ายแรงงานหญิง มูลนิธิเพื่อนหญิง ให้ข้อมูลว่า ณ เดือน ก.พ. 2556 มีแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติคือ พม่า กัมพูชา และลาว ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว 484,443 คน และแรงงานที่นำเข้าแบบ MOU อีก 111,295 คน รวมแรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมายทั้งหมด 959,738 คน

บัณฑิต ระบุว่า สปส.เคยประเมินว่ามีแรงงานข้ามชาติที่เข้าข่ายต้องขึ้นทะเบียนกับ สปส. 650,883 คน ส่วนที่เหลืออีก 308,855 คนทำงานในกิจการที่กฎหมายประกันสังคมเว้นช่องไว้ คือ กิจการเกษตร ประมง คนทำงานในบ้าน หรือกิจการที่งานลักษณะงานตามฤดูกาล

อย่างไรก็ตาม จากจำนวนแรงงานข้ามชาติที่เข้าข่าย 650,883 คน คน มีผู้ที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมจริงๆเพียง 201,668 คนเท่านั้น แบ่งเป็น แรงงานพม่า 146,154 คน กัมพูชา 54,695 คน และลาวอีก 9,819 คน

เหลือที่ยังตกค้างไม่ได้เข้าระบบประกันสังคมอีก 440,215 คน

นอกจากนี้ ผ่านมาถึงเดือน ก.ค. ตัวเลขแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเพิ่มขึ้นเป็น 1,174,900 คน คาดว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ตกค้างเข้าประกันสังคมจะเพิ่มขึ้นอีก ส่วนจำนวนแรงงานที่เข้าระบบไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากนโยบายเปิดขายประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขสามารถซื้อได้ง่ายและราคาถูก ทำให้แรงงานข้ามชาติเลือกใช้บริการดังกล่าวแทนการเข้าระบบประกันสังคม

นอกจากนี้ ปัญหาดังกล่าว ยังมีปัจจัยประกอบอื่นๆ คือตัวนายจ้างเองที่มีหน้าที่ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนแรงงานกับสปส. แต่กลับไม่ทำเพราะไม่ต้องการจ่ายต้นทุนเงินสมทบเพิ่มอีก 4-5% ต่อคน

“หรือหากว่าแรงงานทราบสิทธิของตัวเอง ในทางปฏิบัติจะมีใครกล้าร้องเรียนนายจ้าง ขณะที่สปส.ก็มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ทำให้ตรวจตราครอบคลุมได้ยาก”บัณฑิต กล่าว

นอกจากนี้แล้ว นายจ้างยังมีการให้ข้อมูลสิทธิประโยชน์ที่ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าใจผิดและไม่อยากเข้าประกันสังคม และในทางปฏิบัติเองก็ยังมีความยุ่งยากในการเข้าถึงสิทธิจริง ซึ่งก่อนหน้านี้ Hfocus เคยรวบรวมไว้ทั้งหมด 4 ข้อ ประกอบด้วย

1.สิทธิประโยชน์เรื่องคลอดบุตร สปส.ระบุไว้ว่า ผู้ประกันตนที่จะสามารถใช้สิทธินี้ได้ต้องมีเอกสารแสดงตนประเภทใดประเภทหนึ่งใน 3 ประเภทนี้ คือ ทะเบียนสมรสไทย หรือ หนังสือรับรองบุตร หรือใบคำสั่งศาล ซึ่งในทางปฏิบัติ สปส.ในแต่ละเขตพื้นที่ก็ใช้เอกสารไม่เหมือนกันและกลุ่มแรงงานข้ามชาติก็ปัญหาในการมีใบยืนยันจากประเทศต้นทาง

2.สิทธิประโยชน์การรับเงินสงเคราะห์บุตร สปส.กำหนดให้บุตรผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จนถึงอายุ 6 ปี แต่แรงงานข้ามชาติอยู่ในประเทศไทยได้สูงสุดแค่ 4 ปีเท่านั้น

3.สิทธิกรณีชราภาพ เนื่องจากแรงงานที่จะได้รับบำนาญชราภาพต้องประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ คือ ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือนหรือ 15 ปี อายุขั้นต่ำ 55 ปีและออกจากงาน แต่เนื่องจากแรงงานข้ามชาติทำงานได้แค่ 4 ปี ทำให้ได้เพียงบำเหน็จชราภาพเท่านั้น

4.สิทธิการรับเงินชดเชยว่างงาน เพราะตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ระบุว่า แรงงานข้ามชาติที่สิ้นสุดการเป็นลูกจ้างจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง หรือมิฉะนั้นต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 7 วัน เมื่อถูกส่งกลับแรงงานจะเข้าถึงเงินทดแทนว่างงานไม่ได้ หรือเมื่อสิ้นสุดการจ้างงาน 4 ปีแล้วก็ต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ก็ไม่มีทางใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้เช่นกัน

บัณฑิต เชื่อว่าหากปรับปรุงเงื่อนไขการเข้าถึงสิทธิให้สอดคล้องกับลักษณะการทำงาน จะช่วยดึงดูดแรงงานข้ามชาติให้เข้าระบบประกันสังคมมากขึ้น

ด้าน โกวิท สัจวิเศษ ผู้อำนวยการกองนิติการ สปส.ระบุว่า ประกันสังคม มาตรา 33 มีสภาพบังคับ ดังนั้นหากแรงงานข้ามชาติพิสูจน์สัญชาติเสร็จและเข้าทำงานในระบบโรงงาน แต่นายจ้างไม่นำมาขึ้นทะเบียนกับสปส.ถือว่านายจ้างมีความผิด ยกเว้นแต่แรงงานประมง เกษตร หาบเร่แผงลอย คนทำงานบ้าน หรืองานตามฤดูกาลอื่นๆที่กฎหมายไม่มีผลบังคับให้เข้าระบบประกันสังคม

“หากพบว่านายจ้างกระทำผิดสามารถร้องเรียนได้ที่สปส. หรือสำนักงานประกันสังคมพื้นที่เขตต่างๆ”โกวิท กล่าว

ด้าน จินตนา ยงพฤกษา ผู้อำนวยการสำนักเงินสมทบ สปส. ให้ข้อมูลแย้งว่าเหตุที่แรงงานข้ามชาติเข้าระบบไม่ครบตามจำนวนที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ เนื่องจากมีการหมุนเวียนเปลี่ยนงาน เข้าๆออกๆอยู่ในระบบประกันสังคม เป็นปกติไม่ต่างจากแรงงานไทย

จินตนา ระบุว่า สปส.เคยมีแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบมาตรา 33 สูงสุดประมาณ 7 แสนคน และปัจจุบันอยู่ในระดับ 3 แสนคน ใกล้เคียงกับตัวเลขของเอ็นจีโอ ส่วนที่เหลืออาจทำงานที่กฎหมายไม่ได้บังคับให้เข้ามาตรา 33 เช่น แรงงานประมง หรือคนทำงานในบ้าน แต่เชื่อว่าจำนวนคนตกค้างไม่น่าสูงถึง 4 แสนคน