ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคปก. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ....เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ระบุว่า

คปก. เห็นว่า รัฐบาลควรเร่งรัดการบังคับใช้การดำเนินการตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ซึ่งประกาศใช้แล้วไปก่อนตามเจตนารมณ์ ของกฎหมายและการเล็งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อบุคคลและต่อการที่ประเทศจะมีเงินออมเพิ่มเติมความแข็งแกร่งให้กับฐานะการคลังของประเทศ แทนที่จะมีร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยที่พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 นี้ คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาได้มีเจตจำนงในการตรากฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและมีการเตรียมพร้อมจะดำเนินการให้มีผลบังคับใช้ จึงไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่มีความชอบธรรมในการยุบเลิก

อีกทั้งการเร่งรัดร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. .... และเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อเพิ่มทางเลือกที่ 3 ในมาตรา 40 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งจะขัดต่อเจตจำนงดังกล่าวของฝ่ายนิติบัญญัติ และหลักการของกระบวนการตรากฎหมาย และการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีผลกระทบในการลดทอนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในเชิงการบริหารเงินกองทุน ดังนั้นการจะยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติจะต้องพิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็นในการตรากฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายที่อยู่เบื้องหลังด้วย

พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ..ศ. 2554 เป็นกฎหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติและมีส่วนร่วมผลักดันจากทุกภาคส่วนมาอย่างกว้างขวางการที่กระทรวงการคลังเสนอร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. .... จึงถือเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 นี้ด้วย เพราะมีผลเป็นการตัดสาระสำคัญของกฎหมายลงทั้งหมด โดยขาดเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอที่จะไปลบล้างประโยชน์สาธารณะที่เป็นเจตจำนงของฝ่ายนิติบัญญัติที่ตราพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ขึ้นมา

ดังนั้น หากกระทรวงการคลังหรือคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาจะยกเลิกกฎหมายดังกล่าวจะต้องมีเหตุผลที่แสดงให้เห็นชัดเจนและชอบธรรมว่ามีคุณค่าเหนือกว่ากฎหมายเดิม การร่างกฎหมายยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติที่มีผลเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาตินี้ กรณีนี้จึงอาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 84(4) ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามมาตรา 270 ได้

อย่างไรก็ตามในระยะยาวคปก. เห็นว่าควรต้องพัฒนาหลักการส่งเสริมการออมตั้งแต่วัยทำงานในฐานะบำนาญภาคประชาชนให้อยู่ในกฎหมายเดียว เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ มีโครงสร้างการมีส่วนร่วมชัดเจนในกฎหมายและเปลี่ยนแนวคิดจากการสงเคราะห์ ซึ่งพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 จึงมีโอกาสพัฒนาให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ในระยะยาวเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาการออมแห่งชาติในอนาคต