ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปราเสริฐ-ชาตรีหลังจากที่การผลักดันให้ประเทศ ไทยก้าวสู่ความเป็น “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ” หรือ “เมดิคัล ฮับ” ในเฟสแรกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก่อให้เกิดดอกผลอันเป็นรูปธรรม ต่อพัฒนาการด้านการแพทย์ของไทย ทั้งในภาครัฐและเอกชนอย่างชัดเจน

ทั้งด้านรายได้ ซึ่งสามารถสร้างเงินตราเข้าสู่ประเทศได้ถึง 140,000 ล้านบาท เมื่อปีที่ผ่านมา และการสะท้อนให้เห็นถึงอายุขัยของประชากรไทยที่เพิ่มสูงขึ้น จากการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้อายุขัยของคนไทยยืนยาวขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยเพิ่มเป็น 74.6 ปีในปีนี้ จาก 73.6 ปี ในปี 2554

หลายสัปดาห์ก่อน “ทีมเศรษฐกิจ” ได้ติดตามการเติบโตของ “เมดิคัล ฮับ” จากฝั่งนโยบายรัฐบาล ด้วยบทสัมภาษณ์ “นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์” รมว.สาธารณสุข ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายให้จัดทำยุทธศาสตร์ ผลักดันการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไปแล้ว

ณ วันนี้ ในขณะที่ความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยว่ากำลังเข้าสู่ภาวะซบเซา ฝืดเคือง กำลังปะทุขึ้น“ทีมเศรษฐกิจ” ให้ติดตามขอสัมภาษณ์ “นายแพทย์ชาตรี ดวงเนตร” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการการแพทย์และกรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (BGH) และประธานคณะผู้บริหาร ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ ถึงที่ออฟฟิศของเขา ชั้น 8 ตึกดี โรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย

ในฐานะโรงพยาบาลเอกชน ที่มีความแข็งแกร่งมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ในภูมิภาค และอันดับ 3 ของโลก คำนวณจากกลุ่มโรงพยาบาลทั่วโลก ที่กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ

จำนวนคนไข้ ซึ่งคลาคล่ำทั้งคนไทยและต่างชาติ บุคลากรจำนวนมากที่ยินดีให้บริการ รวมทั้งอาคาร อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย ทัดเทียมและก้าวล้ำที่สุดในโลก เป็นเครื่องพิสูจน์อันดี ถึงความสำเร็จของกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ จากอดีตถึงปัจจุบัน....ก้าวสำคัญสู่ เมดิคัล ฮับนพ.ชาตรี กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางทางด้านสุขภาพ และการรักษาพยาบาลนานาชาติ หรือ เมดิคัล ฮับ นั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ยาก เพราะประเทศไทยถ้ามองจริงๆแล้ว ถือว่าเป็นศูนย์กลางทางสุขภาพมานานพอสมควร โดยเฉพาะด้านการบริการที่ดี รวมถึงการมีตัวเลือกให้คนไข้สามารถเลือกรับการรักษาได้ครบในทุกๆ ด้าน เกี่ยวกับโรคต่างๆ

การที่ประเทศไทยจะเป็น เมดิคัล ฮับ ได้นั้นจะต้องมีส่วนประกอบคือ 1. การให้บริการการรักษาที่ดี มีคุณภาพ ซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องเสริมบางส่วน 2.ด้านการวิจัยที่แข็งแกร่ง ครบครันรอบด้าน เพื่อรองรับการรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ถือเป็นฐานข้อมูลที่โรงพยาบาลสามารถดึงมาใช้งานได้เลย ซึ่งขณะนี้ประเทศไทย ให้ความสำคัญจุดนี้น้อยอยู่ และควรจะเปิดโอกาสให้ทีมแพทย์จากต่างประเทศมาร่วมทำวิจัยด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้

3.เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ของการเรียน การสอน ทางด้านการแพทย์ ซึ่งสิ่งนี้ ถือว่ามีความสำคัญมากๆ เพราะจะส่งผลต่อการพัฒนาทางการแพทย์ ทำให้แพทย์ของประเทศไทยมีความรู้เพิ่มยิ่งขึ้น รักษาโรคได้หลากหลายขึ้น อาจนำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาสอน

สุดท้ายคือ การพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ เชี่ยวชาญเรื่องทางการแพทย์ ซึ่งทางเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ความสำคัญกับการผลิตบุคลากรกลุ่มนี้มาก เพราะแม้โรงพยาบาลจะมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย แต่เมื่อไม่มีแพทย์ มาใช้เครื่องมือเหล่านั้น ก็ถือว่าสูญเปล่า ดังนั้นจะเห็นว่า หัวใจสำคัญอีกประการที่จะขาดไม่ได้ในการที่จะเป็น เมดิคัล ฮับ คือการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาคนไข้นั่นเอง

ทั้งนี้การผลิตบุคลากรแพทย์ ก็ต้องปรึกษาหารือกันว่า จะผลิตบุคลากรเหล่านี้เพิ่มอย่างไร อีกทั้งอนาคตจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการแลกเปลี่ยนการบริการ อาทิ โรงพยาบาลไหนขาดเหลืออะไร อีกโรงพยาบาลก็จะส่งบุคลากรไปช่วย, โรงพยาบาลรัฐมีแพทย์ผ่าตัด แต่ไม่มีแพทย์วางยาสลบ ก็อาจส่งแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชนไปช่วยผ่าตัด โดยคิดค่าผ่าตัดในอัตราค่าบริการของโรงพยาบาลรัฐ เป็นต้น

เดินทางมารักษาพร้อมท่องเที่ยว

เหตุผลที่คนไข้จากต่างประเทศเดินทางเข้ามารับการรักษาในประเทศไทย ประกอบด้วย 4 ข้อหลักๆคือ 1.มีความเชื่อมั่นในมาตรฐานของโรงพยาบาลประเทศไทย ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าใครๆ 2.ราคาค่ารักษาที่เหมาะสม ยุติธรรม โดยเฉพาะคนไข้ที่มาจากแถบตะวันตก นิยมมารักษา เพราะค่ารักษาถูกกว่าในประเทศเขาแน่นอน ถ้าจะให้เทียบอัตราค่ารักษาพยาบาลในแถบเอเชีย ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ไม่สูงมากนัก จะถูกกว่าประเทศสิงคโปร์ แต่จะสูงกว่าประเทศมาเลเซีย และอินเดีย ไม่มากเท่าไร

“3.ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศใดๆในโลก ก็ทำตามแบบได้ยาก คือการให้บริการในแบบคนไทย อาทิ มีจิตใจที่เอื้ออาทรกับคนไข้ ยิ้มแย้มแจ่มใส ความมีมิตรไมตรี ซึ่งในจุดนี้ไม่มีใครสามารถจะมาสู้ หรือลอกเลียนแบบได้”

สุดท้ายคือ ประเทศไทยได้เปรียบเรื่องการมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ณ จุดนี้ทางรัฐบาลได้ให้การส่งเสริมที่ดี ส่งผลให้เวลาคนไข้มารับการรักษาแล้วเสร็จ ก็สามารถเดินทางท่องเที่ยวต่อได้ หรือญาติที่ติดตามมาดูแล ก็สามารถไปท่องเที่ยวได้ ไม่น่าเบื่อ เสมือนได้ประโยชน์สองต่อ ทั้งการมารักษาพยาบาล และท่องเที่ยวในประเทศไทยได้อีกด้วยปัจจุบันการเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลของคนไข้ต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศใกล้เคียง อาทิ พม่า, ลาว, เขมร และเวียดนาม เดินทางมารักษาที่ประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงคนไข้ในประเทศพัฒนาแล้ว มีเงินพอที่จะจ่ายค่ารักษา ก็มารับการรักษาเช่นกัน

ทั้งนี้เนื่องจากประเทศเหล่านี้ยังขาดแคลนบุคลากร ทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ถึงแม้จะมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยอยู่ก็ตาม แต่สิ่งสำคัญกว่า ก็คือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงกลุ่มคนไข้ที่รับการรักษาในประเทศตนเองแล้ว เบิกค่าประกันไม่ได้ ก็เดินทางเข้ามารับการรักษา ในประเทศไทยเช่นกัน อาทิ การศัลยกรรมพลาสติก ทันตกรรม เป็นต้น

รวมพลังเป็นหนึ่งเดียว

การผลักดันให้ประเทศไทยไปสู่ เมดิคัล ฮับ นั้น นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้เคยกล่าวไว้ว่า จะต้องอาศัยการผลักดัน และขับเคลื่อนจากทุกๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง หน่วยงาน ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ ภายใต้ 4P ประกอบด้วย Private, Public, Professional, Partnership จะต้องมีการประสานงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสภาวิชาชีพ ก็จะต้องร่วมมือผสานพลังเป็นหนึ่งเดียว จึงจะสำเร็จลุล่วงได้

“ณ เวลานี้ จุดแข็งและข้อได้เปรียบของประเทศไทย คือ บริการทางการแพทย์ ดังนั้น ก็ต้องมาคิดวิเคราะห์ว่าประเทศไทย จะนำบริการด้านนี้มาพัฒนาต่อยอดได้อย่างไร รวมถึงด้านอื่นๆ ก็ต้องพัฒนาด้วย เพื่อเป็นแรงส่งให้ก้าวขึ้นไปสู่การเป็น เมดิคัล ฮับ ในอนาคตอันใกล้นี้ให้ได้”อย่างไรก็ตาม การร่วมมือของทุกภาคส่วน ณ ขณะนี้ ยังแยกกันทำ แยกกันช่วย ทำให้พลังการช่วยเกิดขึ้นไม่เต็มที่ ไม่มีความต่อเนื่อง การประสานงานร่วมกันก็น้อย ทำให้การไหลลื่นด้านต่างๆ หยุดชะงัก ซึ่งเชื่อว่าหากมีการบูรณาการผนึกกำลังกันแบบจริงๆจังๆ การจะเป็น “เมดิคัล ฮับ” อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ในฐานะตัวแทนจากภาคเอกชน โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น “เมดิคัล ฮับ” ซึ่งไม่อยากให้มองว่า นับจากนี้ไปใครจะได้ประโยชน์ หากประเทศไทยก้าวไปได้ถึงจุดนั้นแล้ว ประโยชน์ทุกๆอย่าง ก็จะตกอยู่กับประเทศชาติ ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีก 2 ปีมีโรงพยาบาล 50 แห่ง

นพ.ชาตรี กล่าวว่า ธุรกิจในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของประเทศไทยและเป็นผู้นำอันดับ 3 ของโลก หากจะเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายใต้การบริหารงานโดย บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย 5 กลุ่มโรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลเปาโล และกลุ่มโรงพยาบาลรอยัลในต่างประเทศปัจจุบันมีโรงพยาบาลในเครือทั้งในและต่างประเทศจำนวน 30 โรง โดยปีที่ผ่านมา มีรายได้รวมทั้งสิ้น 42,000 ล้านบาท ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าหมายอัตราเติบโตระดับ 15% แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา ส่งสัญญาณชัด ว่าเริ่มมีปัญหา ขณะที่รัฐบาลได้ปรับลดเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลง ทางเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ จึงปรับลดเป้าหมายอัตราการเติบโตเหลือระดับ 13%

ส่วนเป้าหมายในปี 2558 จะลงทุนขยายจำนวนโรงพยาบาลเป็น 50 แห่ง ขณะที่การทำงานของโรงพยาบาลในเครือทั้งหมดจะเป็น synergy เพื่อทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตน จะทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลมาตรฐาน ซึ่งการให้บริการจะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด

เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ แบ่งระดับดังนี้ 1. ระดับตติยภูมิ (Top Tertiary Care Hospital) ระดับท็อป คือโรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ 2.ศูนย์ตติยภูมิ (Tertiary Hub) อาทิ โรงพยาบาลสมิติเวช, พญาไท 2, กรุงเทพพัทยา ภูเก็ต ราชสีมา และเชียงใหม่ ที่กำลังก่อสร้างจะเปิดให้บริการในปี 2557

3.ระดับตติยภูมิ ธรรมดา คือโรงพยาบาลบีเอ็นเอช 4.ระดับทุติยภูมิ คือโรงพยาบาล ระดับกลาง เช่น โรงพยาบาลเปาโล, กรุงเทพพระประแดง และ โรงพยาบาลที่จะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ คือ โรงพยาบาลจอมเทียน จ. ชลบุรี, สุนทรภู่ จ.ระยอง และ ดีบุก จ.ภูเก็ต เป็นต้น

และ 5. ระดับปฐมภูมิ คือ ขยายไปยังชุมชน หัวเมือง จังหวัดใหญ่ ใช้ชื่อว่า B+ TELECARE Clinic (บีพลัส เทเลแคร์คลินิก) ซึ่งจะมีแพทย์และพยาบาลประจำแต่ละสาขา พร้อมทั้งเครื่องเอกซเรย์และแล็บต่างๆ แต่อ่านผลหรือการปรึกษารักษาในเคสยากๆ จะส่งมายังส่วนกลาง ผ่านระบบ Tele conference หรือประชุมทางไกล เพื่อปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ขณะนี้เปิดให้บริการแล้ว 2 สาขา นำร่อง คือ 1. สาขา รามคำแหง 160 2. สาขาเจริญกรุง 93 ส่วนสาขาที่ 3 วัชรพล เตรียมเปิดให้บริการต้นปี 2557 ขยายการรักษาเข้าถึงชุมชนทุกระดับ

“บีพลัส เทเลแคร์คลินิก” ในอนาคตอาจจะขยายให้ถึง 100 สาขา ครอบคลุมทั่วประเทศและบริการเข้าถึงคนไทยทุกระดับ อัตราค่ารักษาครั้งละไม่ถึง 1,000 บาทต่อคน ภายใต้มาตรฐานการรักษาของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญการรับผิดชอบต่อสังคม

ขณะเดียวกัน ยังได้ตั้งเป้าหมายลงทุนเปิดบริการโรงพยาบาลเฉพาะทาง เพื่อบริการรักษาโรคเฉพาะทาง เช่น โรงพยาบาลจิตรักษ์ เป็นต้น

ทั้งนี้มาตรฐานการรักษาของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล Joint Commission International (JCI) ซึ่งโรงพยาบาลในระดับตติยภูมิ ควรต้องได้ ตอนนี้ ในเครือมี 11 โรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้ และ 30 โรงพยาบาลในเครือ ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานโรงพยาบาล HA (Hospital Accreditation) ของประเทศไทย

การศึกษาวิจัย และการ training แพทย์ พยาบาลร่วมกับสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำ อาทิ MD Anderson, Texas สถาบันมะเร็งอันดับ 1 ของโลก กับ โรงพยาบาล วัฒโนสถ ดูแลผู้ป่วยด้านมะเร็ง, Mount Sinai Hospital, New York ประสานการดูแลกับศูนย์อายุรวัฒน์กรุงเทพ ดูแลผู้สูงอายุ และด้านเวชศาสตร์การกีฬา Sport Medicine ของมหาวิทยาลัยมหิดล กับสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายกรุงเทพ (Bangkok Academy of Sports and Exercise Medicine) ซึ่งเป็นสถาบันเดียวที่ได้รับการรับรองจาก FIFA ว่าเป็น FIFA Medical Centre of Excellent แห่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน

สำหรับทิศทางการลงทุนในต่างประเทศ จะโฟกัส ประเทศลาว, เวียดนาม, เมียนมาร์, กัมพูชา, จีนและอินเดีย ที่เมืองหลวงพระบาง ของลาว โรงพยาบาลกรุงเทพเปิดคลินิกฉุกเฉิน กรุงเทพอุดร คนไข้ส่วนใหญ่ 80% มาจากเวียงจันทน์ ขณะที่กัมพูชา มี 2 โรงพยาบาล คือ รอยัล รัตตนะ และรอยัล อังกอร์ และในปี 2557 จะเปิดอีกแห่ง คือ รอยัลพนมเปญส่วนเมียนมาร์ เปิดศูนย์ส่งต่อผู้ป่วย มารักษาต่อในประเทศไทย และพร้อมเปิดโรงพยาบาลทันที เมื่อกฎหมายของเมียนมาร์อนุญาตให้เปิดธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้ รวมถึงการลงทุนเปิดโรงพยาบาลที่ท่าเรือน้ำลึกทวาย

“การลงทุนเปิดโรงพยาบาลใหม่ในต่างประเทศ จะพิจารณาประเทศที่ใกล้กับไทย เพราะสามารถสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ได้สะดวก เพราะโมเดลของธุรกิจ ที่ต้องใช้ทีมงานและบุคลากรทางการแพทย์ เป็นคนไทยทั้งหมด ถือเป็นจุดแข็ง ที่มีทีมงานรักษามาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ส่วนประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง จะพิจารณารับบริหารเพียงอย่างเดียว”

ส่วนคนไข้ต่างชาติที่เดินทางเข้ามารับการรักษาในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพนั้น ปีที่ผ่านมา 7 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เมียนมาร์, กาตาร์, คูเวต, ญี่ปุ่น, เอธิโอเปียและบังกลาเทศ.ทีมเศรษฐกิจ

ที่มา: http://www.thairath.co.th