ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ลึกเข้าไปในตรอกอับๆ ซอกหนึ่ง แลเห็นแผ่นกระดานซอมซ่อถูกต่อขึ้นกั้นเป็นห้องแคบๆ ผุๆ เรียงรายราว 20 คูหา เบื้องหน้าระเกะระกะไปด้วยเชือกฟางหลากสีขึงไว้หย่อนๆ มีโสร่งและผ้านุ่งพาดตาก ที่แห่งนี้เสมือนหนึ่งตกสำรวจ แม้แต่สายลมยังปฏิเสธที่จะพัดผ่าน

ไม่ต่ำกว่า 100 ชีวิตแออัดอยู่ที่นั่น บริเวณหมู่ 5 ซอยแพใหม่ ต.บางริ้น อ.เมือง จ.ระนอง

ภาพความเหี้ยมเกรียมด้วยถูกชะตากรรมเข้ากระทำประจักษ์แก่ทีมสำรวจข้อมูลของมูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทยเต็มประดา โดยเฉพาะประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์เรื่องสุขภาพและการเข้าถึงบริการซึ่งเป็นไปในลักษณะเลือนราง...หมดหวังเต็มที

"ถูกหักเงินทุกเดือน ไม่รู้เท่าไรและเอาไปทำไม พอป่วยไปโรงพยาบาลก็ไม่หาย ได้แต่พารา" หญิงสาวชาวพม่านัยน์ตาหม่นทุกข์ เปลือยความรู้สึก

เนวีแรงงานวัย 28 ปี เข้าเมืองถูกกฎหมาย ทันทีที่สองฝ่าเท้าเหยียบเต็มผืนแผ่นดินไทย เธอถูกลำเลียงไปแกะกุ้งในโรงงาน ชีวิตไม่ต่ำกว่าวันละ 8 ชั่วโมงอยู่ในห้องเย็น ร่างกายทรุดโทรมใบหน้าหยาบกร้านเกินอายุจริง

"ทำงานมา 3 ปี เคยใช้สิทธิแค่ครั้งเดียว" ...สิทธิในที่นี้คือประกันสังคม

เนวี เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่าคนไทยทุกประการ ทว่าเงินสมทบที่ถูกหักไปแต่ละเดือนร่วม 300 บาทนั้น แทบไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับเธอเท่าใดนัก

"ไปโรงพยาบาลถ้าไม่มีล่ามก็พูดไม่รู้เรื่องไม่มีคนพาไปก็ทำเรื่องไม่เป็น"เนวี ยอมรับว่าไม่ชอบท่าทีของคนในโรงพยาบาลที่เหมือนไม่เต็มใจรักษา ชาวพม่าส่วนมากได้มาแต่ยาแก้ปวดพารา สุดท้ายต้องไปคลินิกเสียเงินครั้งละเกือบ 500 บาท

สำหรับมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม ให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน 7 ด้าน ได้แก่ 1.รักษาพยาบาล 2.คลอดบุตร 3.เสียชีวิต 4.ทุพพลภาพ 5.ชราภาพ 6.สงเคราะห์บุตร 7.ว่างงาน อย่างไรก็ดีสิทธิประโยชน์เพียง 2 ใน 7 ด้านเท่านั้น ที่แรงงานต่างด้าวได้ประโยชน์

นอกจากสิทธิรักษาพยาบาลที่แรงงานข้ามชาติได้ประโยชน์ (อย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย) และการคลอดบุตรแล้ว อีก 5 ด้านที่เหลือกลับมีเงื่อนไขจำกัดการเข้าถึงสิทธิ

เจ้าหน้าที่ประกันสังคม จ.ระนอง ให้ภาพว่า แรงงานต่างด้าวแทบไม่มีโอกาสใช้สิทธิอื่นๆนอกเหนือจากการรักษาพยาบาลและค่าคลอดบุตร ตัวอย่างเช่น เงินชดเชยรายได้ระหว่างคลอด 90 วันส่วนมากจะไม่ได้รับ เพราะข้อเท็จจริงคือเมื่อแรงงานลาคลอดมักจะถูกนายจ้างให้ลาออกทันที เนื่องจากทำงานไม่ได้

การสงเคราะห์บุตร กฎหมายระบุว่าต้องเป็นบุตรที่ชอบธรรมด้วยกฎหมาย นั่นคือแรงงานต้องจดทะเบียนสมรสเพื่อให้มีหลักฐานใช้ดำเนินการแต่ข้อเท็จจริงคือกระบวนการที่ยุ่งยากและวิถีชีวิตของชาวพม่าน้อยมากที่จะจดทะเบียนสมรส

บำนาญชราภาพ กฎหมายระบุจะจ่ายคืนตอนผู้ประกันตนมีอายุ 55 ปี ซึ่งคงไม่มีชาวพม่าทำงานในประเทศไทยนานขนาดนั้น และหากคนกลุ่มนั้นกลับประเทศก็ไม่มีระบบตามจ่ายคืนให้ หรือแม้แต่สิทธิว่างงานก็ไม่มีโอกาสใช้ เนื่องจากกฎหมายระบุว่าหากแรงงานไม่มีงานหรือไม่มีนายจ้างใหม่ภายใน 15 วัน ต้องถูกส่งกลับประเทศทันที จึงเหลือแต่สิทธิทุพพลภาพและเสียชีวิต ซึ่งคงไม่มีใครอยากใช้

จึงไม่แปลกที่ขณะนี้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพียง 2 แสนเศษเท่านั้น

ทั้งที่ข้อมูลจากกรมการจัดหางานล่าสุด พบว่ามีแรงงานพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วรวม 963,243 ราย

สิ้นสุดบทสนทนา เนวี ถอนลมหายใจ "บังคับให้จ่ายก็ต้องจ่าย"

เธอหวังเพียงว่า หากมีทางเลือก...ถ้ามี... "อยากเอาเงินที่ต้องจ่ายทุกเดือนมาเก็บไว้เอง ถ้าป่วยจะได้เอาไปจ่ายคลินิก อย่างน้อยหมอก็เต็มใจรักษามากกว่า" n--จบ--

 ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 26 สิงหาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง