ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากกรณีที่มีการรายงานข่าวว่า หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ทำหน้าที่สำรองจ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาลตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวให้กับสิทธิข้าราชการและสิทธิประกันสังคม แต่ทั้ง 2 กองทุนยังไม่มีการคืนเงินให้ สปสช.นั้น เมื่อวันที่ 27 ส.ค. นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ตามนโยบาย รัฐบาลได้มอบให้สปสช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการจัด การธุรกรรมการเบิกจ่ายค่ารักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินและระบบข้อมูลต่าง ๆ ตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 55 โดยขั้นตอนคือ เมื่อเข้ารักษาโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ด้วยอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ต้องสำรองจ่ายโรงพยาบาลต้องรักษาทันทีแล้วจึงบันทึกข้อมูลการให้บริการ ส่งมาที่หน่วยงานเบิกจ่ายกลางซึ่ง สปสช.รับหน้าที่นี้ หลังจากนั้น สปสช.จะประมวลผลและจ่ายชดเชยให้กับโรงพยาบาลไปก่อน แล้วจึงส่งใบแจ้งหนี้ให้แต่ละกองทุนเพื่อจ่ายเงินคืน เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและให้โรงพยาบาลที่รับการรักษาได้รับเงินภาย ใน 15 วัน

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า สำหรับผลการดำเนินการ 1 ปี 4 เดือน จนถึงวันที่ 31 ก.ค. 56 มีผู้ป่วยเข้าถึงบริการ 26,587 ราย หรือ 30,025 ครั้ง เป็นสิทธิข้าราชการสูงสุด 16,648 ครั้ง หรือร้อยละ 55.4 สิทธิหลักประกันสุขภาพ 11,359 ครั้ง หรือร้อยละ 37.8 สิทธิประกันสังคม 1,955 ราย หรือร้อยละ 6.5 สำหรับการเรียกเก็บนั้น ทั้งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลางยังคงติดขัดในเรื่องระเบียบของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งต้องมีการแก้ไขและดำเนินการก่อน จึงจะเบิกเงินคืนให้กับ สปสช.ได้ ดังนั้นขอยืนยันว่า จำนวนเงินที่ สปสช.สำรองจ่ายไปก่อนนั้น จะได้รับเงินคืนอย่างแน่นอน และไม่ส่งผล กระทบต่องบประมาณในการให้บริการกับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแต่อย่างใด รวมถึงประชาชนในสิทธิสวัสดิการข้าราชการและสิทธิประกันสังคม หากเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินก็สามารถเข้ารับบริการตามขั้นตอนปกติ

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  วันที่ 28 สิงหาคม 2556