ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการแนะสปส.จัดระบบประกันสังคมให้ครอบคลุม   ป้องกันกองทุนล้มในอนาคต

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.รง.) เป็นประธานเปิดการเสวนาวิชาการประกันสังคม"จัดกระบวนทัพ รับมือประชาคมอาเซียน" ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ กล่าวว่า ตนมั่นใจว่าประเทศไทยมีความพร้อมรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เอซี)ในปีพ.ศ.2558 ไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะต้องเตรียมความพร้อมและพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อเตรียมรับสิ่งใหม่ๆที่กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อเปิดเออีซีและได้ให้สปส.รับข้อเสนอในงานครั้งนี้ไปศึกษาและวางรูปแบบมานำเสนอตน

นายวรโชค ไชยวงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมของไทยนั้นมีแรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกันตนอยู่ด้วยจากที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่ในไทยทั้งหมดประมาณ 2 ล้านคนและหลังเปิดเอซีจะเข้ามาเพิ่มอีก แต่ขณะนี้สปส.ยังไม่มีการวางระบบบริหารจัดการที่ดีรองรับ  จะส่งผลกระทบต่อกองทุนในอนาคตอาจจะถึงขั้นล้มได้เพราะเงินกองทุนจะไหลออกมากกว่าไหลเข้าทั้งจ่ายเงินชราภาพและการดูแลแรงงานต่างชาติ

สปส.จึงต้องวางระบบบริหารจัดการให้ดีและปรับปรุงระบบไอที รวมทั้งจะต้องมีพิสูจน์ตัวตนแรงงานต่างชาติและบริษัทที่ทำงานว่ามีการทำงาน และประกอบธุรกิจจริง และก่อนแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยจะต้องตรวจสุขภาพอย่างละเอียดก่อนรับเข้าทำงานเพื่อป้องกันโรคระบาดและ รวมทั้งต้องมีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวและระบบติดตามที่ชัดเจนและต่อเนื่องจะต้องปรับปรุงข้อมูลผู้ประกันตนซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวให้ทันสมัยอยู่เสมอ มีการเฝ้าระวังพฤติกรรมและสรุปยอดการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ รวมทั้งโรคที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลเป็นรายจังหวัดและเป็นระยะ แต่การสรุปควรให้เร็วกว่า 1 เดือนเพื่อป้องกันปัญหาบริษัทต่างชาติและต่างด้าวแฝงตัวเป็นแรงงานเข้ามาทำงานในไทยเพื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนและมีการเบิกเงินกองทุนออกไปซึ่งเป็นการ หาผลประโยชน์

“ผมคิดว่าพ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ.2533 ไม่ทันสมัยและไม่ได้แยกประกันสังคมแรงงานต่างด้าวไว้โดยเฉพาะ จึงไม่สามารถรองรับแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในไทยหลังเปิดเอซี และผมคิดว่าสปส.ก็คงไม่คิดแยก จึงควรปรับปรุงสิทธิประโยชน์และการจ่ายเงินสมทบให้เหมาะสมกับการทำงานของแรงงานต่างด้าว โดยสปส.ต้องหารือกับกรมการจัดหางาน(กกจ.) ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมว่าระยะเวลาที่เหมาะสมซึ่งควรให้แรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ในไทยนั้นควรเป็นเท่าไหร่ การจะแก้ไขกฎหมายประกันสังคมใช้เวลานาน และกฎหมายประกันสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลแรงงานต่างด้าวเท่านั้นเพราะยังมีหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องจะต้องมาหารือกันเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการวางระบบใหญ่ของประเทศ หลังจากนั้นก็ออกเป็นประกาศหรือกฎกระทรวงรองรับไปก่อนและค่อยๆแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป”

นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสปส. กล่าวว่า ขณะนี้สปส.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาสิทธิ ประโยชน์ประกันสังคมโดยจะปรับปรุงเรื่องการส่งเงินสมทบและเงื่อนไขการเกิด สิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับระยะเวลาทำงานในไทยของแรงงานต่างด้าว แต่คาดว่าจะคงให้ได้รับสิทธิประโยชน์ไว้ทั้ง 7 กรณีและไม่ได้แยกเป็นประกันสังคมของแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะ อาจจะปรับปรุงคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคมเพื่อพิจารณาแก้ไขกฎหมายประกันสังคมต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมแนวหน้า  วันที่ 28 สิงหาคม 2556