ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.ยุติธรรมรอผลวิจัยก่อนเลิกใบกระท่อมในบัญชียาเสพติด 'พงศพัศ'เตรียมระดมความเห็นสัปดาห์หน้าหาข้อยุติ เล็งเทียบ กม.ต่างประเทศประกอบ

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า การพิจารณาแก้ไขกฎหมายยาเสพติดในประเด็นใบกระท่อม หลังมีแนวทางว่าใบกระท่อมอาจสามารถใช้ทดแทนหรือเบี่ยงเบนจากการเสพยาบ้า หรือยาเสพติดอื่นที่รุนแรงกว่า เพราะจากข้อมูลที่ศึกษาพบว่าใบกระท่อมมี สารอัลคารอยด์ และสารเสพติดที่เรียกว่า มิททราเกนาย ที่มีฤทธิ์น้อยกว่ากาเฟอีน แต่ต้องรอการสรุปจากนักวิชาการและผลวิจัยเสียก่อน

นายชัยเกษมกล่าวว่า การยกเลิกใบกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดไม่ใช่การสนับสนุนให้คนมาทดลองใช้ใบกระท่อมแทน ส่วนที่หน่วยงานด้านความมั่นคงระบุว่าใบกระท่อมนิยมใช้ในกลุ่มวัยรุ่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อ นำไปผสมกับยาแก้ไอที่เรียกว่าสี่คูณร้อย ยืนยันว่าให้พิจารณาเฉพาะฤทธิ์ของใบกระท่อมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะใบกระท่อมไม่น่าจะเป็นยาเสพติดและในต่างประเทศ อาทิ ประเทศมาเลเซียก็ไม่ถือว่าใบกระท่อมเป็นยาเสพติดเช่นกัน

พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ทาง ป.ป.ส.กำลังรวบรวมข้อมูลทั้งหมด รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับใบกระท่อมมาประชุมและหารือร่วมกับทางสำนักงานอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อน คาดว่าจะเป็นต้นสัปดาห์หน้า โดยจะทำประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยว่า ควรจะถอนใบกระท่อมออกจากบัญชีสารเสพติดหรือไม่ เพราะเรื่องของใบกระท่อมก็ถือเป็นวิถีชาวบ้านอย่างหนึ่ง

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายชัยเกษมให้หาข้อสรุปผลดีผลเสียของใบกระท่อมให้เร็วที่สุด จากที่ได้อ่านผลงานวิชาการต่างๆ และจากการสอบถามชาวบ้านต้องยอมรับกระท่อมให้เร็วที่สุด จากที่ได้อ่านผลงานวิชาการต่างๆ และจากการสอบถามชาวบ้านต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ใบกระท่อมสามารถนำมาใช้ในการรักษาทางการแพทย์จริง นอกจากนี้ยังเสมือนวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านแถบภาคใต้ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงานอีกด้วย แต่หลังจากจัดใบกระท่อมอยู่ใน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 นั้น พบว่ามีการกระทำผิดทั้งหมด 6,386 คดี มีผู้ต้องหา 7,792 คน ของกลางเป็นใบกระท่อมอบแห้งจำนวนมาก จุดนี้ยิ่งทำให้ต้องหันมาคิดจริงจังว่าควรหาทางออกอย่างไรเกี่ยวกับใบกระท่อม

"ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปอะไร ชาวบ้านบ้างก็ว่าแค่เคี้ยวเป็นวิถีชีวิต ช่วยให้ขยันเอง บ้างก็ว่าเคี้ยวครั้งเดียวอาจติด ต้องขอความร่วมมือจากนักวิจัยยืนยันก่อน ป.ป.ส.เองอยากให้เกิดความชัดเจนว่าพืชกระท่อมนี้ควรให้เป็นสารเสพติดหรือไม่ แต่เพราะยังต้องรวบรวมข้อมูลอีกเยอะ ทั้งยังต้องดูกฎหมายของต่างประเทศด้วยว่าเขาจัดกระท่อมอยู่ในหมวดหมู่ใด สัปดาห์หน้าจะหารือจริงจัง แต่ข้อสรุปจะออกเมื่อไหร่นั้น ยังตอบไม่ได้ ขอเวลารวบรวมรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อน" พล.ต.อ.พงศพัศกล่าว

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงยุติธรรมเตรียมศึกษาวิจัยใบกระท่อม เพื่อลดระดับออกจากการเป็นพืชยาเสพติดว่า ใบกระท่อม เป็นพืชที่ถูกยกระดับเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตั้งแต่ปี 2522 สาเหตุที่ต้องอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เนื่องจากเป็นพืชที่มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด เห็นได้ชัดคือ การนำมาใช้ในลักษณะที่เรียกกันว่า สี่คูณร้อย คือนำใบกระท่อมเป็นส่วนผสมหลัก พบมากในหมู่วัยรุ่นที่เสพติดกัน โดยมีฤทธิ์กดประสาทให้ตื่นตัวตลอดทำให้เสพติดและก่อปัญหาอาชญากรรมได้ สำหรับแนวคิดว่าจะยกเลิกการควบคุมก็ต้องศึกษาวิจัยถึงผลดีผลกระทบให้แน่ชัดเสียก่อน ว่าปัญหาการนำไปใช้ในทางที่ผิดจะมากขึ้นหรือไม่ แต่หากดูแล้วมีประโยชน์และควบคุมได้ก็อาจนำมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะการยกเลิกสารตัวไหน หรือจะยกระดับสารตัวไหนเป็นยาเสพอาจนำมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะการยกเลิกสารตัวไหน หรือจะยกระดับสารตัวไหนเป็นยาเสพติดจะมีคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน พิจารณา คณะกรรมการชุดนี้จะประกอบไปด้วยทุกภาคส่วน อาทิ ตัวแทนจากหน่วยปราบปราม ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนอัยการ ผู้แทนจากสำนักงานปราบปรามยาเสพติด และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการต่างๆ

"หากสมมุติว่ามีประโยชน์ในการใช้ และแก้ปัญหายาเสพติดได้ก็ต้องเสนอให้ความเห็นชอบต่อไป เพราะเรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ได้ดูแลเพียงหน่วยงานเดียว แต่ทุกภาคส่วน กระทรวงสาธารณสุขไม่ขัดข้องยินดีรับฟังความเห็น แต่ต้องมีการศึกษาวิจัยให้ดีก่อน เพราะผลกระทบมีเยอะ ยิ่งบ้านเราปัญหายาเสพติดมีเยอะ ก็ต้องศึกษาถี่ถ้วน เพราะจริงๆ แล้วเรื่องนี้มีการศึกษาวิจัยมานาน แต่จนทุกวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ก็จำเป็นต้องศึกษาอย่างต่อเนื่อง" ภก.ประพนธ์กล่าว

รายงานข่าวจากด่านศุลกากรสะเดา จ.สงขลา เปิดเผยว่า ด่านสะเดาเป็นด่านหนึ่งที่มีการลักลอบนำเข้าใบกระท่อมสดจากประเทศมาเลเซีย เพราะอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบหาซื้อได้ง่าย ราคาถูกกว่าในประเทศไทยหลายเท่าตัว เพื่อนำไปขายให้กับกลุ่มวัยรุ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผสมเป็นตัวยาสี่คูณร้อย เป็นที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่นและนักเรียนระดับมัธยม สถิติการจับกุม ใบกระท่อมที่ด่านสะเดาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมวันที่ 30 กรกฎาคม มีประมาณ 80 ครั้ง ยึดใบกระท่อมได้ประมาณ 6,000 กก. ผู้ต้องหาเกือบ 60 คน

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 30 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--