ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รถนั่งคนพิการหรือวิลแชร์ หลายคนอาจมองว่าวิลแชร์แบบไหนๆ ก็เหมือนกัน คนพิการประเภทใดๆ ก็สามารถใช้แบบเดียวกันได้ ความจริงรถนั่งคนพิการมีทั้งประโยชน์และโทษเมื่อใช้ไม่ถูกตามวัตถุประสงค์หรือสภาพร่างกาย อาจกลายเป็นโทษและอันตรายต่อคนพิการได้

แพทย์หญิงดารณี สุวพันธ์  ผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง ความต้องการของรถนั่งคนพิการในประเทศควรมีเท่าใด จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ร้อยละ  10 ของคนพิการมีความจำเป็นในการใช้ และจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2550 คนพิการในประเทศมีประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งจะมีความต้องการรถนั่งในประเทศที่ประมาณ 200,000 คัน

รถนั่งคนพิการจัดได้ว่าเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ดังนั้นการให้ต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ กระบวนการพิจารณารถนั่งคนพิการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและสภาพแวดล้อมของ คนพิการ จึงพบว่ามีคนพิการได้รับรถแล้วไม่นำไปใช้ คำตอบคือเข็นไม่เป็น ไม่ดี เคยใช้แล้วตกจากรถ จึงกลัว ใช้แล้วเป็นแผลกดทับ นั่งไม่สบาย เป็นต้น

ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนากระบวนการให้บริการรถนั่งคนพิการโดยมีแนวทางปฏิบัติฯ ขององค์การอนามัยโลก (guidelines on the provision of manual wheelchairs in less resource setting, WHO 2008)  โดยมีหลักการที่สำคัญในการพิจารณาคือ (1) รถนั่งคนพิการต้องตรงตามความต้องการของคนพิการ เช่น ต้องการเคลื่อนที่ไปมาในบ้าน  ต้องการไปโรงเรียน  ไปทำงานออฟฟิศหรือต้องการออกไปในสวนหลังบ้าน (2) รถนั่งคนพิการ ยังต้องเหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้ใช้ เช่น บางคน นั่งทรงตัวได้ดี กำลังกล้ามเนื้อร่างกายส่วนบนแข็งแรง อาจเลือกใช้รถนั่งคนพิการที่มีความคล่องตัวสูง แต่บางคนนั่งเองไม่ได้จึงต้องการรถนั่งคนพิการที่มีอุปกรณ์เสริมช่วยประคองร่างกาย หากคนพิการไม่สามารถเข็นรถเองได้จำเป็นต้องมีคนช่วยเข็นให้ เช่น เด็กสมองพิการ และเด็กพิการแขนขา  ควรพิจารณารถนั่งคนพิการที่มีความมั่นคงสูง ไม่หงายหลังง่ายเพื่อให้มีความปลอดภัย และที่จับสำหรับเข็นมีความสูงพอให้คนช่วยเหลือสามารถเข็นได้ง่ายป้องกันการปวดหลัง   (3) สภาพแวดล้อมที่คนพิการนั้นอาศัยอยู่ เช่น คนที่อยู่ในเมืองที่รอบบ้านเป็นคอนกรีต กับคนที่อยู่ในชนบทที่รอบบ้านเป็นพื้นดิน  ย่อมต้องการรถนั่ง คนพิการที่แตกต่างกัน  ที่สำคัญคนพิการที่ได้รับรถนั่ง คนพิการควรได้รับเบาะรองนั่งที่เหมาะสมด้วย ทุกราย  ทั้งนี้ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ หรือปัญหาหลังคดหลังงอจากการนั่งผิดท่านานๆ และเบาะรองนั่งยังช่วยเพิ่มความรู้สึกสบายทำให้คนพิการนั่งได้นานขึ้นและสามารถทำกิจกรรมต่างๆ อยู่บนรถเข็นได้นานขึ้นด้วย  แต่ปัจจุบันคนพิการมักไม่ได้เบาะรองนั่งพร้อมรถนั่งคนพิการ  ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้น และนำไปสู่การไม่ใช้รถนั่งคนพิการอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากการพิจารณารถนั่งคนพิการที่เหมาะสมแล้ว กระบวนการฝึกทักษะการใช้และการดูแลรักษาอุปกรณ์ก็มีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน คนพิการและผู้ช่วยเหลือควรเรียนรู้วิธีการเข็นรถในพื้นที่ต่างๆ  การเคลื่อนย้ายตัวเข้า-ออกรถนั่งคนพิการ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ การป้องกันแผลกดทับ  และการดูแลรักษารถนั่งคนพิการ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าคนพิการสามารถใช้รถได้อย่างปลอดภัย  ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใดๆ และรถนั่งคนพิการมีอายุการใช้งานนาน

ปัจจุบันศูนย์สิรินธรฯ มีการจัดศูนย์สาธิต รถนั่งคนพิการ พร้อมทั้งออกแบบจำลองเหตุการณ์ เพื่อให้เห็นสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างให้ ผู้ป่วยได้ฝึกพร้อมทั้งมีรถเข็นที่หลากหลาย ให้เลือกใช้  นอกจากนี้ยังมีการให้บริการในโครงการออกหน่วยเคลื่อนที่ และอุปกรณ์ บางรายการได้มีการสนับสนุนแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศด้วย จำนวนกว่า 3,000 คัน/ปี   ทั้งนี้ในแต่ละปีศูนย์สิรินธรฯ ยังได้จัดอบรม พัฒนาองค์ความรู้ในการเลือกใช้รถนั่งคนพิการ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เช่น นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด และช่าง/นักกายอุปกรณ์ ให้มีความรู้ในการให้บริการรถนั่งที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการของคนพิการ โดยมีเป้าประสงค์สูงสุดเพื่อเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหว การใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีอิสระ มีความคล่องตัวสูง และใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ สังคมควรมีความตระหนัก ในเรื่องนี้เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยได้รถเข็นที่ไม่เหมาะสม เกิดปัญหาแทรกซ้อน และต้องถูกทิ้งเป็นขยะ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ โทร. 0-2591-4242 หรือ www.snmrc.go.th

ที่มา --ข่าวสด ฉบับวันที่ 30 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--