ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากกรณีที่มีวัยรุ่นนำยาแก้ปวด "ทรามา ดอล" มาผสมน้ำอัดลม หรือผสมเหล้าดื่ม เพื่อให้เกิดอาการมึนเมา ล่าสุดมีข่าวนักเรียน ม.2 ใน จ.สมุทรปราการ ดื่มแล้วช็อกหมดสติ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตื่นตัว คุมเข้มไม่ให้มีการนำยานี้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จนเกิดอันตราย

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า "ทรามาดอล" เป็นยาแก้ปวดอย่างแรง จัดอยู่ในประเภท "ยาอันตราย" ที่ต้องควบคุมการขายโดยเภสัชกร ร้านขายยาต้องมีการจัดทำบัญชีควบคุมการครอบครอง การจำหน่ายให้ชัดเจน เมื่อมีการนำไปใช้ผิดวัตถุ ประสงค์คงต้องเข้มงวดร้านขายยามากขึ้น

ยานี้เพิ่งมีปัญหาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะมีการยกระดับยาหลายชนิดทำให้หาซื้อไม่ได้ในร้านขายยา เช่น ซูโด อีเฟดรีน อัลปราโซแลม  คนที่เสพก็เลยเปลี่ยนไปหายาตัวใหม่อยู่เรื่อย ๆ พอคุมทรามาดอลก็คงจะไปหายาตัวอื่นมาใช้อีกเช่นกัน

หลังจากเกิดปัญหาขึ้นมา  อย. ได้เชิญ 5 หน่วยงาน ได้แก่ สภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน สมาคมร้านขายยา ชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย และผู้รับอนุญาต ผลิต นำเข้า มาร่วมประชุมปรึกษาหารือ

ปกติ อย.ขอให้ผู้ผลิตรายงานยอดการจำหน่ายยาทุก 4 เดือนเพื่อจะได้รู้ปริมาณการใช้  แต่ระยะเวลา 4 เดือนอาจช้าไป ดังนั้นคงต้องดูว่าควรรายงานทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน และต้องแจ้งด้วยว่าส่งไปที่ไหนบ้าง จะทำให้รู้จังหวัด หรือร้านขายยาที่รับยาไป จากนั้นก็แจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รับทราบเพื่อตรวจสอบการนำไปใช้ ในปัจจุบันมีผู้ผลิตประมาณ 20-30 แห่ง โดยปริมาณการผลิตยานี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างผิดสังเกต

ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือให้สภาเภสัชกรรมย้ำกับเภสัชกรเรื่องการจำหน่ายยาดังกล่าวแก่คนไข้ที่จำเป็นต้องใช้ยา  ไม่จ่ายยาให้กับคนที่จะนำยาไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะเยาวชน ห้ามจำหน่ายให้แก่ผู้ที่ไม่มีอาการปวดรุนแรง และต้องจ่ายยาในปริมาณที่เหมาะสม

คิดว่ามาตรการดังกล่าวคงคุมได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่ได้ผลก็ต้องมาคุยกันว่าจะจำกัดการขายเฉพาะในร้านยาคุณภาพซึ่งผ่านการรับรองจาก อย.และสภาเภสัชกรรมเท่านั้น ขณะนี้ร้านยาคุณภาพมีอยู่ประมาณ 600-7,000 แห่งจากกว่า 1 หมื่นแห่ง

หรืออาจพิจารณาว่าจะยกระดับเป็น "ยาควบคุมพิเศษ"หรือไม่ ความจริงยานี้ยังมีประโยชน์อยู่  คนที่มีอาการปวดกินพาราเซตามอลแล้วเอาไม่อยู่ อาจใช้ยานี้ ดังนั้นการยกระดับจาก "ยาอันตราย" เป็น "ยาควบคุมพิเศษ" อาจไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม  เพราะจะทำให้การเข้าถึงยายากขึ้น ดังนั้นต้องชั่งน้ำหนักให้ดี  แม้ในบางประเทศจะจัดเป็นยาควบคุมพิเศษแล้วก็ตาม

ภก.วินิต อัศวกิจวิรี  ผอ.สำนักยา กล่าวว่า "ทรามาดอล" เป็นยาแก้ปวดที่ค่อนข้างจะได้ผลกับอาการปวดมาก ๆ หากกินยานี้ในปริมาณที่มากจะออก ฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้มึนงง ระยะหลังพบว่ามีการนำยานี้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เพิ่มมากขึ้น ส่วน หนึ่งอาจเป็นเพราะร้านขายยาบางแห่งเห็นแก่ได้มุ่งขายยาไป ในปริมาณมาก ๆ การกินยาในปริมาณมาก ๆ อาจเป็นอันตรายได้ แม้ยานี้จะมีความปลอดภัยไม่ค่อยมีฤทธิ์เสพติด แต่ฤทธิ์ของมัน ไปกดประสาทส่วนกลาง  ถ้ากินมาก ๆ อาจไปกดการหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้

ขอเตือนไปยังวัยรุ่นว่า ยาพวกนี้ไม่ใช่ว่ากินแล้วไม่เป็นอันตรายอะไร ถ้ากินมาก ๆ อาจไปกดการหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้  นอกจากนี้ยังไปทำอันตรายต่อตับ ไต ดังนั้นอย่าเห็นแก่ความสนุกชั่ววูบ

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด  กล่าวว่า  "ทรามาดอล"  มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เรียกว่ายากลุ่มโอปิออยด์ โครงสร้างทางเคมีคล้ายกับยาเสพติดประเภทมอร์ฟีน ใช้แล้วทำให้มึน ๆ เมา  ๆ  เหมือนคนเมาเหล้า  บางคนกินแล้วรู้สึกเคลิ้ม หากใช้นาน ๆ จะเสพติด   วัยรุ่นที่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อาจผสมกับยาตัวอื่น หรือเครื่องดื่ม มีหลายสูตรด้วยกันแล้วแต่ใครอยากกินอะไรก็ใส่ลงไป เช่น ผสมกับยาแก้แพ้  ผสมน้ำอัดลม

สำหรับอาการไม่พึงประสงค์เมื่อกินเข้าไปแล้ว  อาจไปกดศูนย์การหายใจ คนแพ้ยาตัวนี้อาจทำให้เกิดอาการชักได้   ขณะเดียวกันยาจะสะสมในร่างกาย ขับออกได้ช้า  อย่างน้อยต้องใช้เวลาขับออก 5-6 ชม. ถ้ากินเข้าไปมาก ๆ ร่างกายขับออกไม่ทัน ฤทธิ์ยาจะสะสมไปเรื่อย ๆ เป็นอันตราย ทั้งนี้การนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้เกิดความเชื่อที่ผิด ๆ แล้วนำไปเผยแพร่ต่อ ๆ กัน พอมีปัญหาทำให้คนจำเป็นต้องใช้ยาพลอยลำบากไปด้วย ร้านขายยาบางร้านตัดสินใจไม่ขายยาตัวนี้เลย ทั้งที่ยานี้ยังมีประโยชน์สำหรับคนไข้ที่ต้องใช้ยา

ที่มา --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 31 ส.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--