ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 30 สิงหาคม 2556 ที่ จ.เชียงใหม่ นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วิศิษฏ์ ตั้งนภากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมและติดตามแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของเขตพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 1 ที่โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ เยี่ยมชมศูนย์อุบัติเหตุและส่งต่อ และตรวจเยี่ยม ร.พ.สันทราย อ.สันทราย ติดตามการพัฒนาเครือข่ายบริการทารกแรกเกิด

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพดี ได้พัฒนาสถานพยาบาลทุกแห่งให้มีมาตรฐานการรักษา กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่สำคัญ 10 สาขา ได้แก่ อุบัติเหตุ, หัวใจและหลอดเลือดสมอง,ทารกแรกเกิด, มะเร็ง,บริการ 5 สาขาหลัก (สูติ,ศัลย์,อายุรกรรม,กุมารเวช, ออร์โธปิดิกส์),ตาและไต, ปฐมภูมิฯ,โรคเรื้อรัง,จิตเวชและทันตกรรม ประชาชนทุกพื้นที่ จะได้รับบริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน เข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง สำหรับเขตบริการสุขภาพที่ 1 มี 8 จังหวัดคือเชียงราย น่าน พะเยา แพร่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน ประชากรรวม 5 ล้านกว่าคน ได้แบ่งกลุ่มบริการเป็น 3 เครือข่ายย่อย เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยมีโรงพยาบาลศูนย์เป็นแม่ข่าย เครือข่ายย่อยที่ 1 มี ร.พ.นครพิงค์ รพ.ลำพูน และรพ.แม่ฮ่องสอน เครือข่ายย่อยที่ 2 มี ร.พ.ลำปาง แพร่ และน่าน เครือข่ายย่อยที่ 3 มีร.พ.เชียงราย พะเยา และเชียงคำ แต่ละกลุ่มจะมีการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ เป็นเครือข่ายบริการควบคู่ไปกับการพัฒนาโรงพยาบาลใหญ่ ใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งบุคลากร เครื่องมือแพทย์ เตียงผู้ป่วย ห้องผ่าตัด มีระบบการดูแลผู้ป่วยและประชาชนเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับพื้นฐานทั่วไปขึ้นไปจนถึงระดับเชี่ยวชาญ

สำหรับ จ.เชียงใหม่มี 25 อำเภอ เป็นจังหวัดใหญ่ มีพื้นที่มากและหลากหลาย ได้จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการปี 2556-2560 ทั้งกำลังคนและงบลงทุน แบ่งการบริหารจัดการออกเป็น 3 โซน ประชาชนเข้าถึงสะดวก โดยโชนเหนือมี ร.พ.ฝางเป็นแม่ข่าย โซนใต้มี ร.พ.จอมทอง โซนกลางมี ร.พ.นครพิงค์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ของจังหวัดเป็นแม่ข่าย และมีแผนพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนรอบๆ รองรับดูแลผู้ป่วยทั่วไปที่อาการป่วยไม่ซับซ้อนอีก 3 แห่งคือ ร.พ.สันทราย พัฒนารองรับเด็กทารกแรกเกิดที่มีภาวะวิกฤติ ร.พ.หางดง รองรับการผ่าตัด และร.พ.สันป่าตอง รองรับผู้ป่วยโรคทั่วๆไป โรคไม่ติดต่อ

ในงานด้านศัลยกรรมบริการผ่าตัดโดยเฉพาะผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อย จ.เชียงใหม่ได้ใช้นโยบาย“หนึ่งจังหวัดหนึ่งโรงพยาบาล”(One Province One Hospital) โดยกระจายการทำผ่าตัดในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม 3 แห่ง คือ รพ.นครพิงค์ รพ.หางดง และ รพ.สันทราย ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดที่รวดเร็ว แก้ไขปัญหาผู้ป่วยล้นเตียงใน ร.พ.นครพิงค์ได้ ในปี 2556 ร.พ.หางดงทำผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบได้ถึง 213 ราย จากเดิมในปี 2555 ที่ผ่าตัดได้เพียง 35 ราย ร.พ.สันทรายผ่าตัดไส้ติ่งได้ 54 ราย จากเดิมในปี 2555 ที่ผ่าตัดได้เพียง 15 ราย

ส่วนในสาขาศัลยกรรมกระดูก เช่น ผู้บาดเจ็บกระดูกแตกหักจากอุบัติเหตุ ได้จัดระบบให้คำปรึกษาแก่กลุ่มแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนที่อยูใน จ.เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอนและลำปาง 73 คน ผ่านทางระบบไลน์ ( Line Application) มีแพทย์เชี่ยวชาญในร.พ.นครพิงค์เป็นแม่ข่ายตลอด 24 ชั่วโมง สามารถส่งภาพฟิล์มเอ็กซเรย์ผ่านไลน์ เริ่มดำเนินการ 23 มีนาคม 2556 พบว่าได้ผลดีมาก มีแพทย์โรงพยาบาลชุมชนขอคำปรึกษา 86 ราย และสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องส่งต่อจำนวน 42 ราย นอกจากนี้ยังได้ตั้งศูนย์คอลเซนเตอร์ (Call Center) ที่รพ.นครพิงค์ เพื่อประสานการส่งต่อผู้ป่วยหนักหรือวิกฤติระหว่างโรงพยาบาลชุมชนกับร.พ.นครพิงค์ ทั้งทางรถยนต์และเฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบินพาณิชย์ (เครื่องบินเล็ก) โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล การคมนาคมลำบาก เพิ่มความคล่องตัว ทำให้ผู้ป่วยวิกฤติส่งตรงจากโรงพยาบาลต้นทางถึงมือศัลยแพทย์ ร.พ.นครพิงค์ และได้รับการรักษาหรือผ่าตัดทันที เช่น ผู้บาดเจ็บทางสมองได้จัดระบบช่องทางด่วน(Fast track) สถิติการผ่าตัดสมองเพิ่มขึ้น 42 เท่าตัว จาก 18ราย ในปี 2552 เพิ่มเป็น 758 ราย ในปี 2556 สามารถลดค่าใช้จ่ายการส่งผู้ป่วยไปรักษาใน ร.พ.เอกชน และ ร.พ.ต่างจังหวัด ปีละประมาณ 35ล้านบาท

สำหรับการดูแลเด็กทารกแรกเกิดที่มีภาวะวิกฤติซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเกิดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย ระบบการหายใจไม่ดี ในปี 2555 จ.เชียงใหม่พบได้ร้อยละ 11 ของเด็กเกิดใหม่ทั้งหมด เด็กกลุ่มนี้ต้องใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลนานประมาณ 3 เดือน เพื่อให้น้ำหนักตัวและระบบการทำงานของอวัยวะภายในทำงานได้ดี ขณะนี้ได้ขยายเตียงเพิ่มที่ ร.พ.สันทราย จำนวน 12 เตียง ในปี 2556 มีแผนจะขยายเป็น 30 เตียง ขณะนี้มีกุมารแพทย์ประจำ 2 คน เครื่องช่วยหายใจ 6 เครื่อง ในปี 2555 มีทารกแรกเกิดที่มีภาวะวิกฤติเข้ารับบริการ 145 ราย ส่วนในปี 2556 เข้ารับบริการแล้ว 145 ราย