ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากยังจำข่าวครึกโครมกรณี "ยาซูโดอีเฟดรีนสูตรผสม" (Pseudoephedrine) ที่สูญหายไปจากโรงพยาบาลจำนวนมาก และเชื่อว่าอาจนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด จนถูกยกระดับเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 จากที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป กลายเป็นว่าไม่สามารถหาซื้อยาแก้หวัด ลดน้ำมูกชนิดนี้ได้อีก หากต้องการใช้ต้องเป็นแพทย์ในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ถ้าฝ่าฝืนจะมีโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ทันที

ขณะนั้นเกิดคำถามมากมายว่า การยกระดับยาที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ เพียงเพราะมีคนกลุ่มหนึ่งนำไปใช้ในทางที่ผิด สมควรแล้วหรือไม่ ที่จะต้องควบคุมจนส่งผลต่อการเข้าถึงยา เพราะกรณียาซูโดอีเฟดรีน ไม่ใช่กรณีแรก และไม่ใช่กรณีสุดท้าย

ล่าสุด ยังมี "ยาทรามาดอล" (Tramadol) เป็นยาบรรเทาอาการปวด สำหรับรักษาอาการปวดระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง จัดเป็นยาอันตราย แต่กลับพบการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยมีการนำไปผสมน้ำอัดลมดื่มจนเกิดปัญหาช็อกหมดสติ จนต้องหามส่งโรงพยาบาล ร้อนถึง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกมากำชับให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังมากขึ้น พร้อมกำชับเภสัชกรจำหน่ายยาตัวนี้แก่คนที่จำเป็นเท่านั้น ไม่จ่ายยาให้กับกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเยาวชนที่อาจคึกคะนองนำไปทดลองผิดๆ ได้

นอกจากนี้ยังมียาชนิดอื่นอีก ไม่ว่าจะเป็น "มิดาโซแลม" (Midazolam) ซึ่งมีฤทธิ์ในการนอนหลับ ทางการแพทย์ใช้รักษาผู้มีปัญหาการนอนหลับ แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง รวมทั้งยังใช้ก่อนการผ่าตัด แต่กลับนำมาใช้ในทางที่ผิดที่รู้จักกันคือ ยาเสียสาว เช่นเดียวกับยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) ซึ่งมีฤทธิ์กล่อมประสาทก็ถูกนำมาใช้ล่อลวง ล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งๆ ที่ทางการแพทย์ใช้ช่วยแก้ปัญหาการนอนหลับ และคลายเครียด ยากลุ่มนี้จึงถูกควบคุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2

รวมถึงยาแก้ไอ "เดกซ์โทรเมทอร์แฟน" (Dextromethorphan) ซึ่งมีฤทธิ์กดประสาทเล็กน้อย เพื่อระงับอาการไอ หากกินมากจะง่วงซึม มึนงง และอาเจียน ทานวันละไม่เกิน 1 เม็ด หากมากกว่านั้นจะทำให้มีอาการชีพจรเต้นเบา ความดันลดลงและอาจถึงขั้นช็อก แต่กลับมีการนำไปใช้ในทางที่ผิด จากข่าวเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งทานเข้าไปเพราะเชื่อว่าจะทำให้ครูตีไม่เจ็บ จนต้องหามส่งโรงพยาบาลแทบไม่ทัน

กลายเป็นว่า ยาเหล่านี้ต้องถูกควบคุม เพราะคนกลุ่มหนึ่งที่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ คำถามคือ วิธีป้องกันนอกจากการใช้มาตรการคุมเข้ม ยังมีวิธีอื่นหรือไม่

เพราะอย่าลืมว่า คุมตัวนี้ก็อาจมีตัวอื่นอีก...

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์มาก อย่าง ยาทรามาดอล ซูโดอีเฟดรีน ล้วนเป็นยาที่มีประโยชน์ในทางการรักษา แต่เมื่อมีการนำไปใช้ผิดๆ เป็นปัญหาสังคม ก็กลับออกมาตรการคุมเข้มจนส่งผลต่อการเข้าถึงยา ซึ่งถามว่าทำได้หรือไม่ ทำได้ แต่เป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ทางที่ดีที่สุดต้องแก้ที่ต้นเหตุ หาทางป้องกันจะดีกว่า

"อย.ต้องปรับระบบบริหารกระจายยาใหม่ โดยต้องมอนิเตอร์ยาทุกกลุ่ม โดยเฉพาะยาที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ไม่ใช่แค่ทราบว่าบริษัทนี้ผลิตยาจำนวนเท่าใด กระจายไปเท่าใด เหลือมากน้อยแค่ไหน หรือทราบเพียงว่า คลินิกแห่งนี้ โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนมียาตัวนี้ในปริมาณเท่าใด แต่ต้องมีการติดตามว่า มีการกระจายยาไปยังประชาชนกลุ่มไหนบ้าง เป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาจริงหรือไม่ และหากพบว่ามียาตัวไหนที่ถูกควบคุมพิเศษ แต่มีการใช้ผิดปกติก็ต้องตรวจสอบทันที ซึ่งเราไม่ทราบว่าที่ผ่านมา อย.มีการบริหารระบบการกระจายยาลักษณะนี้หรือไม่" ผศ.ภญ.นิยดากล่าว และว่า  แพทยสภาก็ต้องกวดขันแพทย์ในการสั่งจ่ายยาควบคุม หากทำผิดก็ต้องมีบทลงโทษ รวมทั้งสภาเภสัชกรรมก็ต้องกวดขันเภสัชกรประจำร้านขายยา ไม่ใช่ขายให้ทุกคนโดยไม่คัดกรอง เรื่องนี้ต้องร่วมมือกันจริงจัง แต่ที่ผ่านมากลับไม่เห็นชัดเจน

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. อธิบายว่า อย.มีระบบตรวจสอบและเฝ้าระวังทุกขั้นตอน โดยแบ่งยาออกเป็นกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มควบคุมพิเศษ ซึ่งต้องมีใบสั่งแพทย์ กลุ่มยาอันตราย ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ แต่ต้องขายโดยเภสัชกร กลุ่มยาปกติ และกลุ่มยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งกลุ่มยาเหล่านี้จะมีระบบตรวจสอบตลอด อย่างกรณียาที่ถูกควบคุม อย่างยาทรามาดอล หากพบว่าเภสัชกรตั้งใจขายให้แก่เด็กนักเรียน ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะมีการนำไปใช้ในทางที่ผิด ก็ต้องดำเนินการทางจริยธรรม ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของสภาเภสัชกรรม ในส่วนของ อย.ได้แจ้งทางผู้ผลิตยาทรามาดอล ให้ความร่วมมือช่วยรายงานมายังอย.ทุกๆ 4 เดือน ว่าผลิตยาจำนวนเท่าใด กระจายไปที่ไหนบ้าง นอกจากนี้ ในกรณีที่ไม่มีผู้ร้องเรียนปัญหาการขายยาที่ไม่เหมาะสม อย.ก็มีการล่อซื้อร้านขายยาที่ขายยาควบคุมเป็นพิเศษ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ใช่เภสัชกรเป็นผู้ขาย ตรงนี้ก็จะดำเนินคดีด้วย

ทั้งนี้ อย.มีระบบเฝ้าระวัง ตรวจสอบ พร้อมออกมาตรการต่างๆ ในการควบคุมระบบกระจายยาอยู่แล้ว ซึ่งการออกมาตรการในการยกระดับจากยาทั่วไป เป็นยาควบคุม ยาอันตราย หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทันที ต้องดูผลกระทบก่อน เพราะยาบางตัวมีฤทธิ์ช่วยรักษาโรคได้ดี ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ หากยกระดับควบคุมเข้มจนเกินไปก็จะส่งผลต่อคนใช้ยารักษาโรค ทำให้มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงยาอีก ดังนั้น การจะพิจารณายกระดับกลุ่มยาชนิดใดก็ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

ด้าน รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม รับลูกโดยหากพบเภสัชกรมีการจ่ายยาที่มีปัญหาทางสังคม โดยไม่ระวัง กล่าวคือ ทราบว่าไม่สมควรขายแต่ยังทำก็จะมีการพิจารณาด้านจริยธรรม ตั้งแต่เพิกถอนใบอนุญาต ไม่เกิน 2 ปี หรือรุนแรงสุดคือ เพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ เป็นต้น

หากร่วมมือกันทุกฝ่าย ปัญหายาดีแต่ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็จะลดลง ไม่ต้องแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอีก...

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : catcat_2927@hotmail.com

--มติชน ฉบับวันที่ 1 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--