ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สาธารณสุขชูนโยบายดึงเอกชนร่วมลงทุนในโรงพยาบาลรัฐ เพิ่มศักยภาพบริการประชาชน ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมลงทุน PPP เดินหน้าเรียกโรงพยาบาลในสังกัด ทั่วประเทศหารือและรับนโยบาย พร้อมเปิดทางเอกชนลงทุนตั้งแต่เครื่องเอกซเรย์- เอ็มอาร์ไอ รวมถึงเข้ามาจัดการบริการผู้ป่วย ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนขานรับ สนใจลงทุน สคร.เร่งออกกฎหมายลูก 16 ฉบับ มั่นใจดีเดย์ 1 ตุลาคมนี้

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายให้ภาคเอกชนเข้าร่วมดำเนินการในกิจการของรัฐจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ เพื่อประหยัดงบประมาณของภาครัฐ และสนับสนุนให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะด้านต่าง ๆ มีเพิ่มมากขึ้น เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ขณะเดียวกันก็เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 4 เมษายน 2556 ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะสามารถเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (Public Private Partnership หรือ PPP) โครงการใดได้บ้าง รวมทั้งรูปแบบและวิธีการในการร่วมทุน

ทั้งนี้จากการระดมความคิดเห็นและการศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า โครงการที่มีความเป็นไปได้ที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมทุนกับโรงพยาบาลรัฐ อาทิ การร่วมทุนเครื่องมืออุปกรณ์เกี่ยวกับการเอกซเรย์ เครื่องมือตรวจสอบสำหรับสร้างภาพอวัยวะภายในร่างกาย เช่น สมอง ตับ ไต กระดูกสันหลัง ฯลฯ โดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ หรือเครื่อง MRI เป็นต้น ส่วนการลงทุนร่วมในโครงการขนาดใหญ่ เช่น การร่วมทุนสร้างโรงพยาบาล อาคารสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ คาดว่าอีกไม่นานจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

"กระทรวงเคยศึกษาเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงก่อนที่ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯจะมีผลบังคับใช้ และมีความคืบหน้าระดับหนึ่งแล้ว และอยู่ในระหว่างดำเนินการต่อเนื่อง เพียงแต่ตอนนี้เป็นช่วงที่มีการโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่ง งานบางส่วนอาจชะลอไปบ้าง แต่หลังทุกอย่างเข้าที่ กระทรวงจะผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่" ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขอีกรายหนึ่งเปิดเผยว่า ตามขั้นตอนหลังจากนี้ไป หน่วยงานต้นสังกัดก็จะต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติ หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องจัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) เสนอคณะกรรมการพิจารณาเพื่อขออนุมัติ แล้วนำเข้าสู่วาระการประชุมของคณะรัฐมนตรี ซึ่งในภาพรวมในเวลานี้ยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่จะแล้วเสร็จได้แน่ชัด

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา สธ.ได้เชิญโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน เข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ ในการสนับสนุนให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ตามแนวคิดของ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556

1 ต.ค.เดินหน้าโครงการ PPP

นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การเสนอโครงการลงทุนในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ตามกำหนดจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป เพราะแม้ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเร่งจัดทำกฎหมายลูกและระเบียบต่าง ๆ รวม 16 ฉบับให้เรียบร้อย

สำหรับกระทรวงสาธารณสุข หรือ โรงพยาบาลของรัฐที่มีแนวคิดจะใช้กลไกการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ ในการลงทุนด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ระหว่างนี้จะให้เตรียมพร้อมโครงการไว้ รวมถึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ให้ชัดเจนก่อน ซึ่งที่ผ่านมา สคร.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้ เพราะทุกโครงการที่ทำ PPP จะต้องเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา

"ตอนนี้เรากำลังทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้ทัน 1 ต.ค.นี้ โดยขณะนี้ระเบียบปฏิบัติบางอย่างยังบอกไม่ได้ชัด อย่างโครงการที่มูลค่าลงทุนต่ำกว่า 1 พันล้านบาท จะต้องมีระเบียบเฉพาะ ที่จะผ่อนปรน โครงการที่เกิน 1 พันล้านบาท แต่ทุกโครงการจะต้องผ่านคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐทั้งหมด ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ครม.ได้อนุมัติตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 7 รายไปเรียบร้อยแล้ว" นายประสงค์กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รมว.คลังเป็นรองประธาน รวมทั้งปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการกฤษฎีกา, สภาพัฒน์, สำนักงบประมาณ, สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.), กรมบัญชีกลาง, อัยการสูงสุด และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะทำหน้าที่กลั่นกรองโครงการว่าเข้าข่ายตามกฎหมายการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐหรือไม่ รวมถึงประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน

ร.พ.เอกชนขานรับสนใจลงทุน

รายงานข่าวจาก สธ.ได้ระบุถึงการสำรวจความสนใจของเอกชนที่จะเข้าร่วมลงทุนในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป พบว่ากรณีโรงพยาบาลศูนย์ ผลจากการส่งแบบสำรวจไปยังเอกชน 25 แห่ง เอกชนส่งแบบสำรวจกลับมา 19 แห่ง พบว่าเอกชนสนใจร่วมลงทุนในโรงพยาบาลศูนย์ ร้อยละ 89.5 ส่วนกรณีโรงพยาบาลทั่วไป ผลจากการส่งแบบสำรวจไปยังเอกชน 70 แห่ง เอกชนส่งแบบสำรวจกลับมา 51 แห่ง พบว่าเอกชนสนใจร่วมลงทุนร้อยละ 72.9 โดยความสนใจในการร่วมลงทุนของเอกชน หลักๆ คือ ด้านครุภัณฑ์การแพทย์ ด้านการจัดบริการทางการแพทย์ ด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ด้านอาคารสิ่งก่อสร้าง และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

สำหรับรายการความร่วมมือที่โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปสนใจให้เอกชนร่วมลงทุน ประกอบด้วย 1.เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scanner) 2.ระบบจัดเก็บและส่งภาพเอกซเรย์ (PACS) 3.เครื่องตรวจอวัยวะภายในด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) 4.เครื่องสลายนิ่ว (ESWL) 5.เครื่องล้างไต 6.เครื่องตรวจเต้านม (Mammogram) 7.อาคารสิ่งก่อสร้าง 8.เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตร 9.บริการผู้ป่วยนอก 10.บริการผู้ป่วยใน 11.เครื่องมือตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac Cath Lab) 12.เครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง และ 13.เครื่องฉายรังสีแบบเร่งอนุภาค (LINAC)

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามไปยังผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน ผู้บริหารระดับสูงโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่งมองว่า กฎหมายร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนมีความน่าสนใจ ซึ่งแนวทางการร่วมมือมีได้หลายรูปแบบ โดยมีคณะกรรมการร่วมกำหนดข้อตกลงที่มีความยุติธรรมสำหรับทั้ง 2 ฝ่าย และมีกฎหมายรองรับ

แหล่งข่าวรายนี้ยังระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีความร่วมมือกันในระดับหนึ่ง ในเรื่องของการส่งต่อผู้ป่วย แต่เรื่องของการลงทุนเรื่องอาคารสถานที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งถ้ารัฐมีพื้นที่ แต่ไม่มี งบประมาณ เอกชนก็ประมูลเข้าไปก่อสร้างอาคาร ซึ่งประโยชน์จาก พ.ร.บ.ดังกล่าวจะช่วยให้ประหยัดงบประมาณของแผ่นดิน และเป็นการลดภาระด้านค่าใช้จ่าย เพื่อนำเงินงบประมาณของรัฐไปใช้ใน ด้านอื่น เช่น ค่าตอบแทนบุคลากรแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยเติมเต็มระบบสุขภาพให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น

ด้านนายแพทย์สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ กลุ่มโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดชัดเจน อย่างไรก็ตามคงต้องศึกษาระเบียบความร่วมมือ ซึ่งนโยบายการร่วมลงทุนของโรงพยาบาลต้องได้สิทธิ์ในการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 - 4 ก.ย. 2556