ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในที่สุดองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก็ได้ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็น "ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม" คนใหม่ หลังจากตำแหน่งนี้ว่างเว้นไปหลายเดือน

เมื่อวันที่ 2 กันยายน นพ.สุวัช  ถือฤกษ์เวลา 13.30 น. เข้าสักการะพระภูมิเจ้าที่ และอนุสาวรีย์ ดร.ตั้ว ลพานุกรม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำองค์การเภสัชกรรม จากนั้นขึ้นไปยังห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ เพื่อลงนามสัญญาว่าจ้างรับตำแหน่งใหม่เป็นเวลา 4 ปี โดยมี นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. พนักงานและเจ้าหน้าที่ อภ.ร่วมเป็นสักขีพยาน

นพ.สุวัชแสดงวิสัยทัศน์ว่า มีความตั้งใจจริงที่จะทำงานเพื่อพัฒนาระบบยาของประเทศไทย และเดินหน้าในเรื่องการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี รวมทั้งเดินหน้าโรงงาน Mass Production หรือโรงงานที่มีการเพิ่มศักยภาพในการผลิตยาทั่วไป

"อภ.เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล จึงต้องทำงานตามภารกิจ โดยเฉพาะการเดินหน้าโรงงานวัคซีน รวมทั้งการจัดระบบและการ กระจายยาให้หน่วยบริการต่างๆ อย่างเพียงพอ เหมาะสม และเป็นธรรม ซึ่งผมมองว่า อภ.เป็นส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุข การกระจายยา หรือแม้แต่การวิจัยพัฒนายา วัคซีนต่างๆ ย่อมมีส่วนสำคัญ ซึ่งต้องทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างหลีกหนีไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงตั้งใจมาทำงานที่ อภ.โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงยามากขึ้น และจะเดินหน้าวิจัยพัฒนายาสามัญ โดยเฉพาะยาที่หมดสิทธิบัตรเพื่อให้มีทางเลือกในการใช้ยา และจะสร้างความเชื่อมั่นในยาสามัญว่ามีศักยภาพ ปลอดภัยจริง" นพ.สุวัชกล่าว และว่า การพัฒนาและผลิตยาสามัญนั้น ไม่ได้คิดว่าจะเป็นคู่แข่งกับเอกชน จึงมุ่งเน้นทำงานในระดับภาคีเครือข่ายร่วมกัน

นพ.สุวัชกล่าวอีกว่า ในการบริหาร อภ.จะมีการประเมินผลการปฏิบัติงานโดยคณะผู้บริหาร อภ.หรือที่เรียกว่า ประเมินเคพีไอ (KPI) ดังนั้นจะทำงานพิสูจน์ และให้ผลงานเป็นตัวชี้วัด

นพ.พิพัฒน์กล่าวว่า นพ.สุวัชเป็นบุคคลที่มีความสามารถ เชื่อว่าเมื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ.จะทำให้การทำงานระหว่าง อภ. และ สธ.ราบรื่นขึ้น ในส่วนของโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้น เชื่อว่า นพ.สุวัชจะสานงานต่อเพื่อให้โรงงานได้ใช้จริงในเร็ววัน เพราะล่าสุดมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและคู่เจรจากับบริษัทรับก่อสร้างโรงงาน ได้หารือจนได้ข้อสรุปว่า จะมีการเดินหน้าในการก่อสร้างต่อ แต่จะยกระดับด้านความปลอดภัยในการผลิตวัคซีนหวัดใหญ่ที่มีเชื้อรุนแรงมากขึ้น วงเงิน 45 ล้านบาท จากงบโครงการประมาณ 1.4 พันล้านบาท ใช้เวลาในการก่อสร้างอีก 515 วัน ซึ่งในวันที่ 5 กันยายนนี้ จะมีการเสนอในการประชุมบอร์ด อภ. เพื่อพิจารณา ก่อนนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ส่วนโรงงาน Mass Production นั้น จะมีพิธีเปิดภายในวันที่ 20 กันยายนนี้

ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า มอบนโยบายให้ผู้อำนวยการ อภ.คนใหม่ ทำงานตามภารกิจของ อภ.เป็นหลัก คือ สร้างความมั่นคงทางยาของประเทศ ซึ่งมีกลยุทธ์ 3 เรื่องหลัก คือ 1.เรื่องการผลิตยาเอง โดยดูว่าคุ้มค่าหรือไม่ 2.การสต๊อกยาที่เหมาะสม เช่น คลังยาในภูมิภาค จะช่วยลดต้นทุนและราคายา ช่วยโรงพยาบาลมีสภาพคล่องมากขึ้นเนื่องจากโรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่ซื้อยาจาก อภ. อีกทั้ง ยังช่วยเรื่องการบริหารจัดการด้วย เพราะหากเกิดน้ำท่วมในภาคเหนือ แต่มีคลังยาที่ภาคใต้ก็สามารถดึงมาใช้งานได้ และ 3.การเป็นผู้นำแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงยาของประชาชน ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตยาภายในประเทศยังกังวลเรื่องสิทธิบัตร ทำให้ไม่กล้าผลิตยาบางตัวเพราะเกรงว่ายังติดสิทธิบัตร อภ.จะต้องประสานความร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาขอให้แจ้งรายชื่อยาที่หมดสิทธิบัตรให้ทราบแล้ว อภ.เป็นผู้ผลิตนำร่องและจำหน่ายยาราคาถูก เมื่อภาคเอกชนเห็นว่าไม่ถูกฟ้องจะได้กล้าผลิต จากนั้น อภ.จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบไม่ให้เอกชนจำหน่ายยาแพง

"อภ.ต้องปรับการบริหารงานในบางส่วน เพราะต้นทุนการผลิตยาบางตัวสูงกว่าเอกชน การให้โรงพยาบาลรัฐซื้อยาจาก อภ.ขณะที่ภาคเอกชนขายถูกกว่า ไม่แฟร์ จำเป็นต้องพิจารณาลดต้นทุนเพื่อให้ราคาสู้เอกชนได้ นอกจากนี้ เรื่องที่เป็นปัญหาต่างๆ เช่น การก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก อภ.ภายใต้การนำของ ผอ.คนใหม่ ต้องเร่งตัดสินใจว่าจะเสนอรัฐบาลให้ตัดสินว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร เพราะต้องนำเรื่องเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติเรื่องการเปลี่ยนแปลงแบบการก่อสร้างหรือการของบประมาณเพิ่มเติม เป็นต้น" นพ.ประดิษฐกล่าว

จากนี้ไปต้องติดตามว่า นพ.สุวัชจะฝ่าวิกฤต อภ.อย่างไร!

ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 4 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--