ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เดินหน้าลดเหลื่อมล้ำเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเหตุเป็นเบี้ยอยู่ยาก ไม่ใช่เงินเดือน หลังแพทย์ได้รับสูงกว่าวิชาชีพอื่นหลายเท่า สูงกว่าพยาบาล 8-28 เท่า พร้อมเสนอปรับยึดตามเกณฑ์โอที เพิ่มสวัสดิการและความก้าวหน้าชัดเจนเหมือนแพทย์ ด้าน "หมอประดิษฐ" รับแก้ความเหลื่อมล้ำสมบูรณ์ 100% คงไม่ได้ แต่ลดช่องว่างให้มากที่สุด

ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2 เป็นประธาน หนึ่งในคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ค่าตอบแทนในระบบสาธารณสุขจากงบ 2 ส่วน คือ 1.งบประมาณประจำปีภาครัฐ จ่ายในส่วนเงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่งด้านสาธารณสุข (พตส.) และเงินชดเชยตามพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และ 2.เงินบำรุงโรงพยาบาล นำมาจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ซึ่งมีการปรับหลักเกณฑ์มาอย่างต่อเนื่องจนเกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ความแตกต่างค่าตอบแทนในส่วนเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งแต่ละวิชาชีพเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพราะมีความต่างด้านการศึกษา แต่เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่มีวัตถุประสงค์จูงใจคนทำงานอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารไม่ว่าวิชาชีพใด ค่าตอบแทนส่วนนี้ไม่ควรต่างกันมากนัก แต่ในความเป็นจริงกลับต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะแพทย์กับวิชาชีพอื่นๆ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

ความเหลื่อมล้ำนี้เกิดจากหลักเกณฑ์เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 4 ทำให้เกิดช่องว่างแต่ละวิชาชีพในพื้นที่อย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล จะเห็นว่าต่างกันแบบฟ้ากับเหว เพราะแค่พื้นที่ปกติ ช่วงระยะทำงาน 1-3 ปีแรก แพทย์ได้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 10,000 บาท เภสัชกร 3,000 บาท และพยาบาล 1,200 บาท และเมื่อขึ้นปีที่ 4 แพทย์ขยับเป็น 30,000 บาท แต่ได้เพียงเภสัชกร 4,000 บาท และพยาบาล 1,800 บาท และยิ่งปีการทำงานเพิ่มขึ้น ความห่างของเบี้ยเลี้ยงจะมากขึ้นตาม และหากคิดจำนวนเท่า เริ่มต้นทำงานแพทย์ได้มากกว่าพยาบาล 8 เท่า พอเข้าปีที่ 4 เป็น 17 เท่า และขยับเป็น 22 และ 28 เท่าในปีที่ 11 และ 20 ทั้งนี้เมื่อนำเภสัชกรมาเปรียบเทียบด้วยพบว่า แพทย์และเภสัชกร เบี้ยเลี้ยงที่ได้รับจะห่างกัน 2.3 เท่า จึงมีคำถามในเรื่องความเป็นธรรม

นายกฤษฎา กล่าวว่า แนวทางลดความเหลื่อมล้ำ มี 2 วิธี หากไม่ปรับลดเงินคนที่ได้มากลง ต้องเพิ่มเงินให้กับคนที่ได้น้อยแทน หรืออาจทำร่วมกันด้วยการปรับคนที่ได้เงินมากลงมาหน่อย และเพิ่มเงินให้กับคนที่ได้น้อยขึ้นไป แต่ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขเลือกวิธีปรับลดเงินคนที่ได้มาก แต่ไม่เพิ่มเงินให้กับคนที่ได้น้อย ด้วยการออกหลักเกณฑ์เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 8 และมีการออกฉบับที่ 9 ซึ่งเป็นหลังเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระเงิน หรือ P4P จึงกลายเป็นประเด็น และมีการคัดค้านเพื่อดึงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 4 และ 6 กลับมา แต่ในกลุ่มวิชาชีพอื่นไม่เห็นด้วย เพราะต่างเห็นด้วยกับการแก้ไขความเหลื่อมล้ำในค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่แตกต่างกันมากกับแพทย์

ทั้งนี้เบื้องต้นทางคณะทำงานฯ ได้เสนอให้ปรับการจ่ายค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายด้วยการยึดตามส่วนต่างในการจ่ายค่าล่วงเวลา (โอที) ให้แต่ละวิชาชีพ ซึ่งปัจจุบันแพทย์ทำงานล่วงเวลาอยู่ที่ 1,000 บาท เภสัชกร 720 บาท และพยาบาล 600 บาท เรียกว่าเป็นสัดส่วนการจ่ายที่ เภสัชกร 60% ของแพทย์ ขณะที่พยาบาลอยู่ที่ 55% ซึ่งเป็นอัตราที่รับได้ เพียงแต่รัฐบาลอาจต้องใส่งบประมาณลงมาเพิ่มเพื่อสร้างความเป็นธรรม

ส่วนข้อเสนอข้างต้นจะได้รับการตอบรับหรือไม่ คงไม่มีการออกมาเคลื่อนไหว แม้ว่าในการลดความเหลื่อมล้ำพยาบาลจะได้ไม่ถึง 55% ตามที่เสนอก็ตาม นอกจากนี้ผู้บริหารเองควรให้ควรเป็นธรรม โดยเพิ่มสวัสดิการดูแลพยาบาลมากขึ้น

ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนแต่ละวิชาชีพ วิธีที่ทำอยู่คงไม่สามารถแก้ได้ 100% เพียงแต่ลดช่องว่างลง อย่างการนำ P4P มาใช้ในการประเมินและจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน ไม่เพียงแต่ช่วยลดช่องว่างแต่ยังทำให้คนที่ทำงานมีกำลังใจ อีกทั้งยังทำให้ทุกคนยอมรับในงานที่ทำและค่าตอบแทนที่ได้รับ ซึ่งแพทย์เองก็ต้องทำเหมือนกัน เพื่อให้เกิดความสมดุล ที่ผ่านมาเมื่อมีการนำค่าตอบแทนมาเปรียบเทียบกันทำให้เกิดความขับข้องใจ วิธีนี้จะชี้ให้เห็นว่าแพทย์เองก็ทำงานหนัก ตรงนี้นอกจากแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแล้ว ยังเป็นการประเมินผลเพื่อส่งไปยังสำนักงานข้าราชการพลเรือน เพื่อให้อนุมัติตำแหน่งข้าราชการเพิ่มเติมอีก 7,500 ตำแหน่งต่อเนื่อง 2 ปี ดังนั้นอยากให้เข้าใจ และอยากให้คนที่รอบรรจุมาติดกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง โดยในเดือนตุลาคมนี้ต้องบรรจุเพิ่มแล้ว แต่อาจต้องล่าช้าออกไป

ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่ ให้เป็นการจ่ายตามอัตราการจ่ายโอที ที่เภสัชกรได้ 60% ของแพทย์ ขณะที่พยาบาล 55% นั้น นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้ลงรายละเอียด แต่ความเหลื่อมล้ำมีหลายอย่างจะเอาทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบคงไม่ได้ เพียงแต่อาจต้องค่อยๆ ทำไปทีละส่วน เพราะแม้แต่การสร้างบ้านก็ไม่ใช่วันเดียวเสร็จได้ โดยเบื้องต้นขอแก้ไขปัญหาให้คนที่ไม่ได้รับโอกาสก่อน ส่วนคนที่ได้รับโอกาส หรือมีอยู่แล้วแต่ต้องการให้ดีขึ้น คงต้องรออีกนิด เรื่องนี้ตนเข้าใจดี แต่คงไม่มีปัญญาทำให้เสร็จสมบูรณ์ทุกอย่าง--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 3 กันยายน 2556