ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่สำนักงานประกันสังคม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานในพิธีวันครบรอบ 23 ปี วันคล้ายวันจัดตั้งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่า ตลอดเวลา 23 ปีที่ผ่านมา สปส. สร้างหลักประกันในการดำเนินชีวิตแก่ผู้ประกันตนและพัฒนาเพิ่มสิทธิประโยชน์รวมทั้งการให้บริการแก่ผู้ประกันตนอย่างไม่หยุดนิ่งนอกจากนี้ การให้ทุนแพทย์และนิสิต นักศึกษาแพทย์ก็เป็นสิ่งที่ดีซึ่ง สปส. ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาการกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตนซึ่งเป็นการเปิดทางเลือกที่ 3 ของประกันสังคมมาตรา 40 จะทำให้แรงงานนอกระบบมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น

"ผมจะผลักดันให้ผู้บริหารกระทรวงแรง งานคือนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) และนายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) โดยให้คนใดคนหนึ่งมีโอกาสได้เป็นปลัดกระทรวงแรงงานแทน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย. นี้ เพราะผู้บริหารกระทรวง มีความรู้ความเข้าใจงานกระทรวงเป็นอย่างดี ผมภาวนาให้คนใดคนหนึ่งได้เป็นปลัดกระทรวงแรง งาน" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

ด้านนายจีรศักดิ์ กล่าวว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาการกำหนดหลักเกณฑ์ฯ ที่ ครม. เห็นชอบนั้นมีสาระสำคัญใน 3 ประเด็นคือ 1. คุณสมบัติโดยให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15-65 ปี สามารถสมัครเป็น ผู้ประกันตนได้ในประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ในปีแรกที่เปิดรับสมัครสมาชิกหลังจากนั้นในปีต่อ ๆ ไปผู้สมัครต้องมีอายุ 15-60 ปี โดยทางเลือกที่  3 ให้สิทธิประโยชน์เฉพาะเงินบำนาญกรณีชราภาพ เท่านั้นซึ่งแตกต่างจากทางเลือกที่ 1 ที่ให้เงินสิทธิประโยชน์ทั้งกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิตและทางเลือกที่ 2 ซึ่งได้รับเงินสิทธิประโยชน์เช่นทางเลือกที่  1 แต่เพิ่มสิทธิประโยชน์เงินบำเหน็จชราภาพ 2. การจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตได้ค่าทำศพ 20,000 บาท โดยผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบ 6 งวด ใน 12 เดือน ยกเว้นถ้าผู้ประกันตนเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุต้องจ่ายเงินสมทบอย่างน้อย 1 เดือน ภายใน 6 เดือน ซึ่งเงื่อนไขนี้ครอบคลุมทั้งผู้ประกันตนในทางเลือกที่ 1 และ 2 และ 3. การจ่ายเงินสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพ กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนได้รับสิทธิเงินบำนาญชราภาพครบ 5 ปี ทายาทก็จะได้รับเงินบำเหน็จตกทอดซึ่งเงื่อนไขนี้ครอบคลุมทั้งผู้ประกันตนในทางเลือกที่ 3 และคาดว่าปลายปีนี้น่าจะเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ได้

ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 5 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--