ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -สงสัยบ้างมั้ย.. ทำไมราคายาในโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐ หรือแม้แต่ร้านขายยาทั่วไป จึงมีความแตกต่างกัน ทั้งๆที่ยาตัวเดียวกัน...

ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมานานและเป็นความเหลื่อมล้ำมาโดยตลอด เพราะคนรวยย่อมเข้าถึงยาได้มากกว่า เรื่องนี้ชัดเจนจากผลการวิจัยของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.ชะอรสิน สุขศรีวงศ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ภญ.วรสุดา ยูงทอง กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ศึกษาวิจัย เรื่อง ราคายา ความเพียงพอ ความสามารถในการจ่าย และองค์ประกอบของราคายาในประเทศไทย ซึ่งทำการศึกษาตั้งแต่ปี 2549 โดยสำรวจยาทั่วไปทั้งหมด 43 ชนิด ตั้งแต่การจัดซื้อยาและราคาจำหน่ายให้ผู้ป่วยที่รวบรวมมาจากโรงพยาบาลรัฐ 20 แห่ง และร้านขายยาเอกชนอีก 21 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร และ 3 จังหวัดในแต่ละภาคของไทย คือ จ.พิษณุโลก สุราษฎร์ธานี และนครราชสีมา

จากการสำรวจพบว่าค่าใช้จ่ายด้านยาคิดเป็นร้อยละ 31 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกขององค์การความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ที่มีค่าใช้จ่ายด้านยาเพียงร้อยละ 17.8 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด อีกทั้ง จากการสำรวจราคายาโดยรวมที่ขึ้นทะเบียนในปี 2550 พบว่า ร้อยละ 51 ของยาทั้ง 43 ชนิด มีราคาตั้งแต่ 11-50 บาทต่อเม็ด ขณะที่ร้อยละ 15 มีราคาตั้งแต่ 51-99 บาทต่อเม็ด ร้อยละ 25 มีราคาตั้งแต่ 101-500 บาทต่อเม็ด และร้อยละ 3 มีราคายาสูงกว่า 1,000 บาทต่อเม็ด

ที่สำคัญยังตรวจสอบพบว่า ราคาต้นทุนยาที่บริษัทยาแจ้งไว้กับกรมการค้าภายใน กับเมื่อขายให้กับโรงพยาบาลรัฐแตกต่างกันมาก โดยพบส่วนต่างถึง 60-800 เท่า ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มยาปฏิชีวนะ ยาแก้กระเพาะอาหาร ยาแก้ปวดทั่วไป เป็นต้น

"รศ.ดร.ชะอรสิน สุขศรีวงศ์" คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ในเรื่องของการแจ้งราคายาก่อนวางจำหน่าย มีคณะกรรมการควบคุมราคายาของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดูแล และมีอำนาจดูแลโดยตรง แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า ผู้ผลิตจะแจ้งราคาตามฉลากที่ติดไว้ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ กล่าวคือ กระทรวงพาณิชย์จะดูเพียงว่ามีการขายเกินฉลากหรือไม่เท่านั้น ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีใครทราบเลยว่าต้นทุนการผลิตยาจริงๆเป็นอย่างไร และราคาจริงๆควรไม่เกินเท่าไร จึงจะเหมาะสม

"น่าแปลกที่ขนาดพวกเนื้อสัตว์ เนื้อไก่ เนื้อหมู กลับมีการควบคุมราคาไม่ให้ขายเกินจำนวนเท่าใด แต่สินค้าประเภทยา กลับไม่เป็นเช่นนั้น ทั้งๆ ที่เป็นสินค้าที่ต้องมีความปลอดภัยสูง" รศ.ดร.ชะอรสิน กล่าว และ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง เรื่องนี้ต้องกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผลการศึกษาออกมา แต่จนบัดนี้ก็ยังเงียบ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

ด้าน "ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี" ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เปิดเผยว่า ยาราคาแพงยังคงเป็นปัญหามาตลอด เพราะไม่ใช่แค่ยาในโรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาแพงมากกว่าโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น แต่ในโรงพยาบาลรัฐเองก็ยังมีราคาที่แตกต่างกัน รวมไปถึงในร้านขายยาก็ยังจำหน่ายไม่เท่ากันด้วย ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานที่มีอำนาจในการควบคุมราคายา คือ กระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากมีอำนาจทางกฎหมายในการควบคุมราคาสินค้า ซึ่งยาก็จัดเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง และเป็นประเภทที่สำคัญต่อชีวิตคน แต่กลับไม่มีแอคชั่นใดๆจากกระทรวงพาณิชย์เลย โดยดูเพียงว่ามีการติดฉลากหรือไม่เท่านั้น ซึ่งถามว่าสมควรแล้วหรือไม่

สิ่งสำคัญราคายาที่แพงๆ นั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตที่ให้ข้อมูลเองด้วย หมายความว่า ผู้ผลิตสามารถให้ราคายาเท่าใดก็ได้ ซึ่งไม่มีเกณฑ์ตัวบ่งชี้ หรือทำราคากลางใดๆเลย ในส่วนของภาครัฐ อย่างโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น แม้จะมีการทำราคากลางยา ในการทำสัญญาซื้อขายยา ซึ่งก็ดีในแง่ของผู้ป่วยที่มีสิทธิตามกองทุนของตน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ แต่ในผู้ป่วยที่มารับบริการโดยไม่มีสิทธิใดๆ ก็ต้องจ่ายเงินเองนั้น ในเรื่องราคาจำหน่ายยาให้กับผู้ป่วยก็ยังไม่เท่ากันอยู่ดี ซึ่งตรงนี้ก็ยังไม่มีการควบคุม

เรื่องนี้ "นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข" เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขยายความว่า อย. ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมราคายาที่จำหน่ายในประเทศ จึงไม่สามารถบังคับผู้จัดจำหน่ายยาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ผู้ที่ควบคุมคือกระทรวงพานิชย์ อย.ทำได้ในแง่ของการควบคุมคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน และการขึ้นทะเบียนยาในประเทศ ซึ่งตรงนี้มีกระบวนการดำเนินการอยู่แล้ว

สรุปคือ กระทรวงพาณิชย์ คือผู้มีอำนาจโดยชอบอย่างแท้จริง... แต่ไม่รู้ว่าจะมีการดำเนินการแก้ปัญหาอย่างไร และจากทั้งหมดสะท้อนได้ว่า ประเทศไทยล้มเหลวเรื่องการสร้างกลไกที่เป็นธรรมในการควบคุมราคายา ที่น่ากลัวกว่านั้นคือหน่วยงานของรัฐไม่ใส่ใจในการหาแนวทางเพื่อควบคุมราคายาอย่างจริงจัง