ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมหารือเรื่องการดำเนินงาน Migrant Health ที่เหมาะสมของประเทศไทย ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล

วันนี้ (5 ก.ย. 56) เวลา 14.30 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมหารือเรื่องการดำเนินงาน Migrant Health ที่เหมาะสมของประเทศไทย ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล

การประชุมครั้งนี้มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ คือ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนางสาวปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การอนามัยโลก (WHO) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) กองทุนสหประชาชาติเพื่อประชากร (UNFPA) ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์กรนานาชาติเพื่อการย้ายถิ่นฐาน (IOM) และ สหภาพยุโรป (EU)

จุดมุ่งหมายของการประชุมหารือในวันนี้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีความกังวลในเรื่องของแรงงานต่างด้าวต่าง ๆ จึงต้องการให้มีการดูแลแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบเพื่อให้เป็นไปตามสิ่งที่ไทยได้ดำเนินการไว้กับทางสหประชาชาติเรื่องปฏิญญาสิทธิมนุษยชน ซึ่งจากการประชุมดังกล่าวทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาการค้ามนุษย์ ยาเสพติด อาชญากรรม สาธารณสุข ในเรื่องของโรคต่าง ๆ ซึ่งสถานภาพของกลุ่มแรงงานต่างด้าวจำนวน ประมาณ 2-3 ล้านคนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยในสถานะที่ยังไม่ถูกต้องจึงทำให้ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่แสดงตน และพบเจอปัญหา แรงงานต่างด้าวจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยธรรม ดังนั้นการที่จะเข้าไปดูแลได้จะต้องให้คนกลุ่มนี้ออกมาแสดงตนหรือขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง เพื่อจะได้เข้าไปดูแลได้ โดยต้องจะมีกลไกและแนวทางให้คนกลุ่มนี้ออกมาพิสูจน์สัญชาติหรือแสดงตัวได้ง่ายขึ้น ซึ่งต้องมีการดูแลในเรื่องค่าใช้จ่ายและการอำนวยความสะดวกให้คนเหล่านี้ด้วย

ในที่ประชุมต่างเห็นพ้องกับนายกรัฐมนตรีที่จะตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลในเรื่องแรงงานต่างด้าว โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) คณะกรรมการที่จะเข้าไปดูแลผลจากปัญหาของการที่แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยรวมถึงผู้ติดตาม เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในส่วนปลายอย่างไร เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาแรงงานและนายหน้าที่นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทย โดยมอบกระทรวงแรงงานและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานหลักในดำเนินการและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2) คณะกรรมการในเรื่องการประชาสัมพันธ์ กลุ่มแรงงานดังกล่าวและนายจ้างเห็นถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง โดยจะเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ ซึ่งภาคประชาชนจะประกอบด้วยกลุ่ม NGO ต่าง ๆ ส่วนภาครัฐมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ

3) คณะกรรมการที่เป็นความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศ ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องของทรัพยากรและเทคโนโลยีต่าง ๆ มอบกระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรระหว่างประเทศดำเนินการวางแผนสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในเรื่องทรัพยากรและเทคโนโลยีต่างๆ ต่อไป

4) คณะกรรมการในเรื่องการบริหารจัดการการจัดรูปแบบและกระบวนการในการลงทะเบียนรวมถึงการพิสูจน์สัญชาติเพื่อแสดงตัวตนแรงงานต่างด้าวด้วยขั้นตอนที่สะดวกง่ายและไม่มีค่าใช้จ่ายไม่แพง เพื่อให้เกิดแรงจูงใจให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวเหล่านี้มาลงทะเบียนมากขึ้น

นอกจากนี้ในการประชุมผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ ต่างแสดงความชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทยที่จะแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวอย่างแท้จริง และองค์กรต่างประเทศต่างให้คำมั่นที่จะร่วมมือกับไทยในทุกด้าน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่แรงงานต่างด้าว