ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน -นิติกรสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เผย 3 ปี ดำเนินคดีกับธุรกิจน้ำเมา 675 คดี แฉมี 330 คดี ละเมิดมาตรา 32 กรณีส่งเสริมการขาย โชว์โลโก้ ราคา บรรจุภัณฑ์ จูงใจให้บริโภคเพิ่ม

เมื่อวันที่ 5 กันยายน น.ส.ชนกธิดา ศิริวัตร นิติกร สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยในเวทีชี้แจงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 หัวข้อ "โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบไหนผิดกฎหมาย" ว่า ปัจจุบันการกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงมีต่อเนื่อง โดยพบว่ามีการดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2553-2556 จำนวน 675 คดี โดยครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 330 คดี เป็นการทำผิดเกี่ยวกับการโฆษณามาตรา 32 คือ การจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ไม่มีข้อความคำเตือน ไม่มีข้อความสร้างสรรค์สังคม และการทำผิดในลักษณะป้ายชนิดต่างๆ ทั้งป้ายตู้ไฟ ป้ายแบนเนอร์ โปสเตอร์ และการใช้ตราสัญลักษณ์ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น แก้ว ร่ม เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยหากกระทำความผิดครั้งแรกจะเปรียบเทียบปรับ 5 หมื่นบาท ครั้งที่ 2 เปรียบเทียบปรับ 2 แสนบาท และครั้งที่ 3 จะเปรียบเทียบปรับเต็มจำนวนคือ 5 แสนบาท "การโฆษณาของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเว็บไซต์จะปรากฏโลโก้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สินค้าบรรจุภัณฑ์ ราคา ภาพข้อความเพื่อประโยชน์ทางการค้า การชักจูงให้ดื่ม ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายทั้งหมด ยังมีวิธีในการโฆษณาที่ถูกกฎหมายอยู่ คือ สามารถโฆษณาได้โดยห้ามเห็นภาพตัวสินค้า ส่วนโลโก้ผลิตภัณฑ์หากเป็นโฆษณาทางโทรทัศน์จะสามารถปรากฏได้ไม่เกิน 2 วินาที และต้องมีคำเตือนถึงอันตรายของการดื่ม ส่วนในเว็บไซต์สามารถระบุรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ได้ แต่ต้องไม่มีข้อความในเชิงอวดอ้างสรรพคุณ" น.ส.ชนกธิดากล่าว

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ในวันที่ 6 กันยายน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีกำหนดการให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์กรณี สสส.จะมีเม็ดเงินเข้ากองทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีงบประมาณในการรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 6 กันยายน 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง