ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ -ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการปรับเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาล ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมกิจการประกันภัย (คปภ.)ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ ของการประกันภัยภาคบังคับคือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

ประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คปภ. ยอมรับว่าอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ประกันพ.ร.บ.เพื่อประโยชน์ของประชาชนแต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดของเรื่องดังกล่าวโดยจะต้องรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนก่อนว่าสามารถทำได้หรือไม่และมีความเห็นอย่างไร

"จะมีการประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 10 ก.ย.นี้ และจะนำผลการประชุมไปเสนอต่อคณะกรรมการ คปภ.อีกครั้ง ซึ่งต้องการให้ได้ข้อสรุปออกมาประมาณปลายปี2556 หรือต้นปี 2557" ประเวช กล่าว

คณะกรรมการ คปภ. เปิดเผยว่า แนวทางที่จะเพิ่มค่าเสียหายเบื้องต้น เห็นว่ากรณีการรักษาพยาบาลควรเพิ่มค่ารักษาจาก 1.5 หมื่นบาทเป็น 3 หมื่นบาทแต่กรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวรและสูญเสียอวัยวะ 3.5 หมื่นบาทเท่าเดิมรวมค่าเสียหายเบื้องต้นจะเพิ่มจาก 5 หมื่นบาทเป็น 6.5 หมื่นบาท

สำหรับเบี้ยประกันภัยยังคงเท่าเดิม โดยรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 300 บาทต่อปี รถเก๋ง 600 บาทต่อปีส่วนค่าสินไหมทดแทนสูงสุดสำหรับผู้ประสบภัยจากรถหรือบุคคลที่ 3 ที่ถูกรถมีประกันภัย พ.ร.บ.ชน ยังเท่าเดิม คือจะอยู่ที่ 2 แสนบาท และค่าชดเชยรายวันกรณีเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นวันละ 200 บาทสูงสุดไม่เกิน 20 วัน

ทั้งนี้ ทางสมาคมประกันวินาศภัย ได้รับเรื่องดังกล่าวเพื่อนำไปประชุมหารือกับทางบริษัทสมาชิกต่อไป

ประสิทธิ์ คำเกิด รองกรรมการผู้จัดการ ด้านปฏิบัติการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ(บริษัท กลางฯ) กล่าวว่า การปรับเพิ่มค่าเสียหายเบื้องต้นกรณีค่ารักษาพยาบาลจาก 1.5 หมื่นบาทเป็น3 หมื่นบาทจะส่งผลดีโดยตรงต่อผู้ขับขี่ และประชาชนผู้ประสบภัย เพราะสถิติการเกิดอุบัติเหตุของลูกค้า พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ ของบริษัท กลางฯ ส่วนใหญ่จะบาดเจ็บ มีการเสียชีวิตเพียงเล็กน้อยเท่านั้นโดยมีผู้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกรณีเสียชีวิตเพียง 8,000 รายต่อปี แต่มีเคลมที่เกิดจากการบาดเจ็บร่วม 3 แสนคน

"สิ่งที่เรากังวลคือ ค่ารักษาขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นนี้ จะถึงมือผู้บาดเจ็บโดยตรงหรือเปล่า กลัวว่าจะมีการคิดค่ารักษาที่เกินความเป็นจริง แล้วประโยชน์จะตกอยู่ที่โรงพยาบาลถ้าประชาชนเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลรัฐเราไม่ห่วงเพราะมีกระทรวงสาธารณสุขควบคุมราคากลางอยู่ แต่โรงพยาบาลเอกชนนี้เขาตัดสินใจเอง และแต่โรงพยาบาลค่ารักษาก็ไม่เท่ากัน" ประสิทธิ์ กล่าว

ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า จะทำให้ต้นทุนของบริษัทประกันภัยเพิ่มขึ้นทันที 1 เท่าตัว หรือ 100% แต่จะต้องรอทางสมาคมประกันวินาศภัยนัดประชุมหารือกันก่อนว่าจะรับได้หรือไม่ และมีวิธีการบริหารอย่างไรเพื่อให้สามารถอยู่ได้แต่ที่ผ่านมาทางธุรกิจประกันภัยมีการรณรงค์ลดอุบัติเหตุควบคู่กันไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 6 กันยายน 2556