ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้าพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินตามแนวทางของตนเองคือ มุ่งพัฒนาระบบรถพยาบาลของโรงพยาบาลสปสช.ก็เดินหน้าพัฒนา "ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ" โดยยุทธศาสตร์หลัก 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พัฒนาระบบ "รถการแพทย์ฉุกเฉิน" ขึ้น 2) สร้างระบบการจ่ายค่าตอบแทน เพื่อให้หน่วยงานทั้งที่ทำงานอยู่แล้ว ได้แก่ หน่วยฉุกเฉินขององค์กรการกุศลสาธารณประโยชน์ และที่พัฒนาขึ้นใหม่ในอปท. รวมทั้งยานพาหนะของหน่วยงานของรัฐและของเอกชน ให้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีความเข้มแข็งและยั่งยืน 3) พัฒนาศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการให้รถการแพทย์ฉุกเฉินออกไปรับผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุให้มีประสิทธิภาพ 4) พัฒนามาตรฐาน รถการแพทย์ฉุกเฉิน อุปกรณ์ช่วยชีวิต และบุคลากร

งานต่างๆ เหล่านี้เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้และการตัดสินใจเลือกแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม และอาจต้อง "ลองผิดลองถูก"(Trial and Error) เพื่อหารูปแบบวิธีการที่เหมาะสม เช่น ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการเริ่มต้นด้วยแนวคิดรวมศูนย์ไว้ที่กรุงเทพฯ แห่งเดียว แต่ในที่สุดก็ต้องกระจายออกไปอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เรื่องมาตรฐานก็ต้องจัดสมดุลให้เหมาะสมระหว่างการส่งเสริมให้มีรถและอุปกรณ์ชั้นเลิศ (Excellent) กับการยอมให้มีรถการแพทย์ฉุกเฉินหลายระดับเพื่อให้เกิดการกระจายอย่างทั่วถึง (Equity) ก่อนในขั้นแรก เรื่องมาตรฐานบุคลากรก็ต้องจัดสมดุลระหว่างการใช้บุคลากรวิชาชีพ เช่น แพทย์พยาบาล ซึ่งขาดแคลนอยู่แล้วกับ "เวชกรฉุกเฉิน" (Paramedics) ซึ่งสามารถสร้างขึ้นได้จำนวนมาก

ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นตลอดมา คือ การที่กระทรวงสาธารณสุขต้องการทั้งความ "เป็นหนึ่ง" และ "เป็นหนึ่งเดียว" ในเรื่องนี้ซึ่งเป็นความคิด "ย้อนยุค" ทวนกระแสโลกยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุค "โพสต์โมเดิร์น" (Postmodern)หรือ "ยุคหลังสมัยใหม่" ที่ต้องการความหลากหลายให้ทุกฝ่ายมี "ที่ยืนอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี"เช่น ความพยายามที่จะใช้ตราศูนย์นเรนทรของกระทรวงเป็นตราสัญลักษณ์ แต่ในที่สุดก็ได้เป็นตรา "ดาวหกแฉก" (Star of Life) ซึ่งเป็นตราสากล และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มาร่วมงานนี้ หรือการมุ่งเน้น "มาตรฐาน" ทั้งรถพยาบาล-อุปกรณ์บุคลากร ระดับสูง ซึ่งยากที่จะทำได้อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

ในที่สุดหลังจากพัฒนาระบบมาได้ระยะหนึ่งสปสช.ก็ได้เตรียมการสำหรับยุทธศาสตร์สำคัญขั้นต่อไป คือ การออกพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อวัตถุประสงค์หลัก2 ประการ คือ 1) เพื่อให้บริการครอบคลุมผู้ป่วยในระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการด้วย ไม่จำกัดอยู่แต่ในระบบบัตรทองของ สปสช.เท่านั้น 2) เพื่อให้มีองค์กรระดับชาติเป็นผู้รับผิดชอบที่เป็นอิสระทั้งจากกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. จนกฎหมายออกมาเมื่อพ.ศ. 2551

ปัจจุบันระบบการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติสามารถ "ลงหลักปักฐาน" ได้ระดับหนึ่ง จนสามารถขยายบริการได้เพิ่มขึ้นมากจากเดิมก่อนเริ่มต้นระบบ มีการให้บริการเพียงปีละ 7,000-8,000 ครั้งเท่านั้น ปีที่ผ่านมามีการให้บริการถึง1.2 ล้านครั้ง อปท.ทั่วประเทศ 7,800 กว่าแห่งมีการจัดบริการรถการแพทย์ฉุกเฉินกว่า 5,000 แห่งแล้ว นอกเหนือจากหน่วยงานในภาครัฐและองค์กรการกุศลสาธารณะต่างๆ ที่ทำงานนี้มาแล้ว ภาคธุรกิจเอกชนก็เข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ใน จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นเขตภูเขา การเดินทางทางถนนต้องใช้เวลามาก สายการบินกานต์แอร์ของเอกชน ซึ่งเป็นสายการบินพาณิชย์ ได้เข้ามาให้บริการขนส่งผู้ป่วยฉุกเฉินช่วยชีวิตคนไข้ถึงปีละกว่า 20 ครั้ง

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)มีโอกาส "เปล่งประกาย" อย่างโดดเด่นในช่วงมหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 สามารถขนส่งผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ โดยไม่ต้องลงทุนจัดซื้อ รถ-เรือ-เครื่องบินแต่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันได้ใช้งบประมาณเพื่อการนี้ราวพันกว่าล้านเท่านั้นช่วยชีวิตผู้ป่วยให้รอดและลดความพิการได้มากมาย

ตลอดเวลาสิบปีเศษที่มีการเริ่มระบบนี้ที่สปสช. และทำอย่างเนื่องโดยสพฉ. ภาพอัน"เลวร้าย" ต่างๆ เช่น การออกไปแย่งชิงรับคนเจ็บ การแอบขโมยของมีค่าของผู้บาดเจ็บ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างผิดหลักวิชาจนเกิดความพิการแทรกซ้อน ฯลฯ ได้รับการแก้ไขจนกลายเป็นอดีตที่ไม่ควรหวนกลับคืนมาอีกแล้ว

อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาให้ต้องแก้ไขอีกมากที่สำคัญคือ ใน อปท.ทั่วประเทศ 7,800 กว่าแห่ง มีรถการแพทย์ฉุกเฉินเพียง 5,000 กว่าแห่ง ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีที่ปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งราวครึ่งเดียว จังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะในมหานครอย่างกรุงเทพฯ แม้มีบริการอยู่มากแต่ก็ยังให้บริการได้จำกัด และเมืองเล็กๆ โดยเฉพาะในท้องที่ห่างไกลทุรกันดารบริการก็ยังไม่ทั่วถึง ระบบการรับแจ้งเหตุและสั่งการก็ยังต้องการการพัฒนาอีกมาก และมาตรฐานทั้งรถอุปกรณ์ และบุคลากร ก็ยังต้องการการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป

การแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เป็นภารกิจหลักของ สพฉ. แต่ต้องได้รับความร่วมมือและสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากกระทรวงสาธารณสุข ข้อสำคัญกระทรวงสาธารณสุขจะต้องปรับบทบาทให้เหมาะสม หน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาอย่าง"สำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน" (สธฉ.) ควรพิจารณาว่า เป็นการซ้ำซ้อนกับ สพฉ.หรือไม่

ในอดีตกระทรวงสาธารณสุขได้แสดงตนเป็นแบบอย่างของคนที่ "ใหญ่จริง" เช่น งานวางแผนครอบครัว กระทรวงมีบทบาทในความสำเร็จถึงกว่าร้อยละ 90 แต่กระทรวงไม่เคยออกมา "โวยวาย" เลยว่าถูก "แย่งซีน" โดยบุคคลหรือหน่วยงานนอกกระทรวง ทั้งนี้เพราะ"ผู้ใหญ่" ในอดีตของกระทรวงสาธารณสุขล้วนมีวุฒิภาวะและต่างยึดมั่นในพระราบรมโชวาทของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก

ที่จารึกไว้ ณ ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ท่าน ที่ประดิษฐานเด่นเป็นสง่าหน้ากระทรวงสาธารณสุขที่ว่า "ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่งลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์"

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 3 กันยายน 2556