ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'จูดี้'บุกหารือผู้นำ 60 ชุมชนย่านหนองจอก ยันใบกระท่อมไม่มีฤทธิ์กล่อมประสาท ช่วยสร้างกำลังวังชาทำงานได้ดี

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 7 กันยายน ที่ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ คลองเก้า เขตหนองจอก กรุงเทพฯ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เข้าพบและมอบกระเช้าผลไม้ให้กับนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี พร้อมพูดคุยเพื่อปรึกษาหารือและขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายพืช กระท่อม ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยตัดออกจากบัญชียาเสพติด ประเภท 5 เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีการลักลอบปลูกพืชกระท่อมไว้บริโภคในชีวิตประจำวันจำนวนมาก ก่อนนำข้อมูลดังกล่าวไปเข้าที่ประชุมคณะทำงานพัฒนานโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อม ในวันที่ 10 กันยายน โดยใช้เกี่ยวกับพืชกระท่อม ในวันที่ 10 กันยายน โดยใช้เวลาในการหารือประมาณ 20 นาที ทั้งนี้ พล.ต.อ. พงศพัศ และนายอาศิส ได้เข้าพูดคุยกับผู้นำชุมชนทั้ง 60 ชุมชน จำนวน 100 คน เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องพืชกระท่อม

นายอาศิสกล่าวว่า ในสมัยก่อนพืชใบกระท่อม เป็นยาสมุนไพรที่ประชาชนทั่วไปบริโภค เนื่องจากให้คุณประโยชน์มากมาย ทั้งสามารถเพิ่มกำลังในการทำงานได้ดี ทำให้คนมีความขยันในการทำงาน ทั้งยังเป็นยาที่ช่วยในเรื่องแก้อาการท้องเสีย แต่ปัจจุบันคนนำมาใช้กันอย่างผิดๆ นำไปผสมเป็นยาเสพติดหลายขนาน ตามหลักศาสนาอิสลามนั้น หากพบว่าพืชดังกล่าวมีฤทธิ์กล่อมประสาท ทำให้มึนเมาประสาทหลอน จะเข้าข่ายผิดข้อห้ามของศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถึงแม้ว่ากฎหมายจะอนุญาต แต่อย่างไรก็ตาม จะรอผลวิจัยจาก ป.ป.ส.ก่อนว่าพืชกระท่อมให้โทษดังที่กล่าวไปแล้วหรือไม่ ก่อนนำเข้าหารือกับคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรีต่อไป

ด้าน พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า หลังจากนี้จะประสานให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งพิสูจน์ว่าพืชกระท่อมมีฤทธิ์กล่อมประสาท ทำให้ประสาทหลอน และเข้าข่ายเป็นยาเสพติดหรือไม่ พร้อมทั้งจะนำข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายเข้าที่ประชุมคณะทำงานพัฒนานโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อม ในวันที่ 10 กันยายนนี้ ที่ ป.ป.ส.จะมีผู้แทนจากแต่ละกระทรวง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางต่อไปว่าจะถอนชื่อพืชกระท่อมออกจากบัญชีรายชื่อยาเสพติดให้โทษ หรือจะลดความผิดทางอาญา หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมต่อไป โดยวัตถุประสงค์หนึ่งเพื่อเป็นการแก้ปัญหาจำนวนนักโทษล้นเรือนจำ

เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าวด้วยว่า จากการลงพื้นที่สอบถามผู้บริโภคกระท่อมเป็นประจำ พบว่าไม่มีฤทธิ์กล่อมประสาท ประสาทหลอน หรือทำให้มึนเมาแต่อย่างใด แต่ในทางตรงกันข้ามกลับให้คุณประโยชน์ช่วยในเรื่องกำลังวังชาและความแข็งแรง ทำให้ทนแดดร้อน สามารถตรากตรำทำงานหนักได้ อย่างไรก็ตาม ตนยอมรับว่าทางกระทรวงยุติธรรมและ ป.ป.ส.มีความกังวลว่าจะเป็นการเปิดช่องว่างให้แก่ผู้ผลิตยาเสพติด ที่จะใช้เป็นข้ออ้างได้ จุดนี้จะเป็นเรื่องในอนาคตที่จะต้องพิจารณากันต่อไป ทั้งนี้ จากสถิติการจับกุมคดียาเสพติด พบว่าแต่ละปีจะมีคดีเกี่ยวกับพืชกระท่อมประมาณ 7,000 ราย ส่วนใหญ่เป็น ผู้เสพมากกว่าผู้ผลิต

"อย่างที่บอกกฎหมายกำหนดไว้ว่าแค่เด็ดกินจากต้นก็ผิดแล้ว หรือบางครั้งชาวบ้านพกใบกระท่อม 5 ใบติดกระเป๋า เพื่อจะออกไปทำนา ทำไร่ ตำรวจค้นเจอก็โดนจับเหมือนกัน" เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าว

ที่มา --มติชน ฉบับวันที่ 9 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง