ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน -"ปลาร้า จัดเป็นอาหารคู่ภาคอีสาน ยิ่งปลาร้าหมักไม่ต้องต้ม ยิ่งอร่อย แต่รู้หรือไม่ว่า การทานแบบนี้สุ่มเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งคนภาคอีสานป่วยด้วยโรคนี้เยอะมาก..." นพ.ธนุตม์ ก้วยเจริญพานิชก์ นพ.ชำนาญการโรงพยาบาล (รพ.) มะเร็งอุบลราชธานี กล่าวระหว่างพาทีม นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการเครือข่ายการบริการผู้ป่วยมะเร็งแบบครบวงจร ที่ รพ.มะเร็งอุบลฯ และ รพ.สรรพสิทธิ์ประสงค์ จ.อุบลราชธานี

เครือข่ายการบริการดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบครบวงจร เป็นหนึ่งในการดำเนินการของ สปสช. ที่มองว่าการลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตคงไม่สามารถมุ่งแค่การรักษาเท่านั้น แต่ต้องเน้นการดูแลอย่างรอบด้าน ตั้งแต่การป้องกันการเกิดโรค การคัดกรอง และการรักษาอย่างเหมาะสม จึงได้สนับสนุนโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการจัดตั้งเป็นเครือข่ายสุขภาพเพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะ ซึ่ง รพ.มะเร็งอุบลฯ และ รพ.สรรพสิทธิ์ประสงค์ เป็นหนึ่งในเครือข่ายในพื้นที่อีสานใต้จากทั้งหมด 35 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ การทำงานของเครือข่ายจะมี รพ.มะเร็งอุบลฯ และ รพ.สรรพสิทธิ์ประสงค์ เป็น รพ.แม่ข่ายที่ทำงานเชื่อมโยงกับ รพ.ลูกข่าย อย่างศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือป่วยมะเร็งท่อน้ำดีมากถึงปีละ 10,000 ราย เฉพาะผู้ป่วยใน จ.อุบลฯ พบว่า อัตราตายสูงมากจาก 33.54 รายต่อแสนประชากรในปี 2550 เพิ่มเป็น 42.86 รายต่อแสนประชากรในปี 2553 ด้วยเหตุนี้จึงมีความร่วมมือกันในการลดอุบัติการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งให้การบริการรักษาอย่างครบวงจร ลดปัญหาการรอคิวนาน และลดการเดินทางจาก รพ.ห่างไกล มารักษาใน รพ.ใกล้บ้านแทน ยกตัวอย่าง รพ.สรรพสิทธิ์ประสงค์ มีความพร้อมด้านการผ่าตัด เคมีบำบัด เวชศาสตร์นิวเคลียร์ ส่วน รพ.มะเร็งอุบลฯ มีความพร้อมด้านเคมีบำบัด รังสีรักษา การรักษาประคับประคอง และเพื่อให้การรักษาครบถ้วนภายในเขตบริการสุขภาพ จึงต้องอาศัยความร่วมมือการส่งต่อระหว่าง รพ.ให้บริการแก่ผู้ป่วยในส่วนที่ขาด ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่าลดการส่งต่อผู้ป่วยนอกเขตบริการสุขภาพ จากเดิม รพ.สรรพสิทธิ์ประสงค์เคยส่งต่อนอกเขต 89 รายในปี 2554 ลดเหลือ 55 รายในปี 2555 และลดระยะเวลารอคอยการผ่าตัดจาก 7-14 วัน เหลือ 2-3 วัน

นพ.ธนุตม์บอกอีกว่า จริงๆ การจะลดอุบัติการณ์ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีต้องให้พวกเขาเข้าใจถึงปัจจัยกระตุ้น ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการกินปลาร้าที่ไม่ปรุงสุก โดยเฉพาะส้มตำปลาร้า จึงมีความคิดว่าการรณรงค์ว่าไม่ควรกินลักษณะนี้คงไม่พอ แต่ต้องลงพื้นที่ทำให้เห็นภัยที่แท้จริง จึงเกิดความร่วมมือขึ้นระหว่าง รพ.มะเร็งอุบลราชธานี รพ.ศรีสะเกษ และเทศบาลเมืองศรีสะเกษ จัดทำโครงการตรวจคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีขึ้นโดยปีนี้ปีแรก

เบื้องต้นได้ตรวจคัดกรองพนักงานเทศบาลและแม่ค้าขายส้มตำรอบๆ รพ.ศรีสะเกษ จำนวน 214 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีอายุเกิน 40 ปี อยู่ในอีสานมานานกว่า 20 ปี มีโอกาสทานปลาร้า ปลาดิบสูง ที่สำคัญมีประวัติพี่น้องป่วยเป็นมะเร็งท่อน้ำดี โดยพบว่า 122 คนจากกลุ่มดังกล่าวตรวจเจอท่อน้ำดีหนาตัว จึงทำการตรวจอุจจาระเพิ่ม จนพบว่า 48 คนมีปัญหาไขมันเกาะตับ จึงต้องส่งตรวจเลือดและการทำงานของตับเพิ่ม กระทั่งพบ 1 คนเป็นมะเร็งท่อน้ำดี

สาเหตุที่เลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นแม่ค้าขายส้มตำ เพราะขายปลาร้า และมีการชิม ทานอยู่แล้ว ซึ่งพบว่าปลาร้าไม่ได้ต้มสุก บางร้านบอกว่าต้ม แต่สุดท้ายก็มีผสม เนื่องจากเป็นสูตร แต่การกินปลาร้าไม่สุกย่อมเสี่ยงเป็นมะเร็งท่อน้ำดีได้ จากการคัดกรองดังกล่าวทำให้ทราบว่าคนยังนิยมทานปลาร้า จึงจำเป็นต้องรณรงค์ให้ประชาชนทราบถึงความเสี่ยงในการเกิดโรค และขอให้ต้มปลาร้าให้สุกก่อนรับประทาน

อีกเครือข่ายสุขภาพที่เน้นการป้องกันโรคและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : catcat_2927@hotmail.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 8 กันยายน 2556