ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด อภ.ตั้งโต๊ะแถลงผลสอบบรรจุยาโรคหัวใจ 2 ชนิดสลับซอง 9 ก.ย. ระบุปัญหาเกิดจากการตรวจสอบในแล็บ เจ้าหน้าที่ไม่ทำตาม ขั้นตอนปฏิบัติ นายกสภาเภสัชฯแจงยาทั้ง 2 ชนิดเป็นกลุ่มเดียวกัน รับประทานผิดไม่อันตราย แค่วิงเวียนศีรษะ 'หมอประดิษฐ'มั่นใจ ไม่เกี่ยวดิสเครดิต ผอ.องค์การเภสัชฯคนใหม่

องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เร่งเรียกคืนยาไอโซซอร์ไบด์ ไดไนเตรต (Isosorbide dinitrate) ซึ่งเป็นยาขยายหลอดเลือด ใช้รักษาผู้ป่วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ และยาแอมโลดิปีน (Amlodipine) หนังสือพิมพ์มติชนรายวันสำหรับลดความดันโลหิตสูง ที่มีปัญหาระหว่างกระบวนการผลิต เกิดการบรรจุสลับกัน โดยยาล็อตดังกล่าวมีจำนวน 6 แสนเม็ด กระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 7 แห่ง คือ 1.รพ.มะการักษ์ จ.กาญจนบุรี 2.รพ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ 3.รพ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ 4.รพ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี 5.รพ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี 6.รพ.นครชัยศรี จ.นครปฐม และ 7.รพ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี พร้อมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

โดยเมื่อวันที่ 8 กันยายน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานกรรมการ อภ. ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 9 กันยายน จะแถลงข่าวเปิดเผยผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าจำนวนยาที่มีปัญหาไม่ได้มากอย่างที่เข้าใจ โดยล็อตที่ผลิตมีประมาณ 6 แสนเม็ดจริง แต่การบรรจุสลับยามีประมาณ 50-100 เม็ด ปัญหาเกิดจากช่วงที่ต้องนำออกมาสุ่มตรวจคุณภาพในห้องแล็บ เมื่อตรวจเสร็จแล้วจะต้องทิ้ง แม้ว่าคุณภาพยาจะดีก็ตาม เพราะเป็นขั้นตอนการผลิตที่ทำกันอยู่

"ปัญหาคือ เมื่อตรวจคุณภาพเสร็จ คนทำกลับไม่ทิ้ง เพราะอาจเห็นว่ายาใช้ได้ จึงนำเทกลับเข้าระบบผลิต จึงทำให้เกิดการสลับยาระหว่างบรรจุได้ ยอมรับว่าแม้จำนวนยาจะน้อยแต่ก็ไม่ควรเกิดขึ้น อย่างไรเสียจะต้องมีการลงโทษคนที่ทำผิดพลาด และย้ำเน้นว่าจะต้องไม่เกิดปัญหาดังกล่าวอีก" นพ.พิพัฒน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการดิสเครดิต อภ.ให้ประสบปัญหาความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นหรือไม่ นพ.พิพัฒน์กล่าวว่า คงไม่ใช่ และจะชี้แจงปัญหาต่างๆ อย่างละเอียดอีกครั้งในวัน แถลงข่าว

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวถึงสาเหตุความผิดพลาด ว่าเกิดจากอะไรในกระบวนการผลิต และให้มีตัวแทนของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมมาร่วมเป็นกรรมการสอบด้วย เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลการทำงาน รวมทั้งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบยาที่มีการสลับกันว่าเป็นจำนวนที่แท้จริงเท่าใด อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่การดิสเครดิตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมคนใหม่ที่เพิ่งมารับตำแหน่งเพียงไม่กี่วัน ขณะที่ ยาล็อตดังกล่าวผลิตขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนกรกฎาคม 2556 และการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่ายาล็อตนี้ต้องกระจายไปในโรงพยาบาล 7 แห่ง แต่มีการกระจายจริงเพียงไม่กี่ แห่งเท่านั้น

"ยอมรับว่าความผิดพลาดที่เกิดกับองค์การเภสัชกรรม ทำให้เสียความเชื่อถืออยู่บ้าง" นพ.ประดิษฐกล่าว

ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ยาไอโซซอร์ไบด์ ไดไนเตรตและยาแอมโลดิปีน เป็นยาในกลุ่มเดียวกัน ออกฤทธิ์คล้ายกันคือช่วยขยายหลอดเลือดทั้งคู่ แต่ออกฤทธิ์กันคนละจุด ผู้ป่วยที่ได้รับยาผิดอาจไม่แสดงผลเนื่องจากเป็นการรับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อย เพราะแฝงไปเป็นจำนวนน้อยคือประมาณ 1 เม็ดใน 1 แผง รวมทั้งอาการข้างเคียงมีความคล้ายคลึงกัน เช่น การวิงเวียนศีรษะ ซึ่งในกรณีนี้ผู้ป่วยมีข้อสังเกตคือสัญลักษณ์บนเม็ดยาจะต่างกัน เมื่อตรวจพบความผิดพลาดก็เป็นหน้าที่ของ อภ. จะต้องส่งยาล็อตใหม่ที่ไม่มีปัญหาไปให้โรงพยาบาล เพื่อให้ทางโรงพยาบาลเก็บยาเก่าที่จ่ายให้กับผู้ป่วยกลับคืนและจ่ายยาชุดใหม่ให้

นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยาทั้งสองตัวเป็นยาขยายเส้นเลือด โดยยาไอโซซอร์ไบด์ ไดไนเตรต จะขยายเส้นเลือดดำเป็นหลัก ส่วนยาแอมโลดิปีนจะขยายเส้นเลือดแดง อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ป่วยจะรับประทานยาสลับกันก็ไม่ถือว่าเป็นอันตรายร้ายแรงเพียงแต่หากมีความดันต่ำอยู่แล้ว จะทำให้ความดันต่ำลงไปอีก

"หากยาที่บรรจุผิดซองและรับประทานไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะอาการอย่างมากอาจแค่เวียนหัว ก็ให้นั่งหรือนอนพักก็จะหายเป็นปกติ นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายก็อาจจะมีแนวทางการรักษาที่ต้องรับประทานยาทั้งสองตัวควบคู่กันอยู่แล้ว" นพ.วสันต์กล่าว

นพ.ประวิ อ่ำพันธุ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ศรีสะเกษ กล่าวว่า โรงพยาบาลยางชุมน้อย อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ ได้รับยาทั้ง 2 ชนิดในล็อตดังกล่าวจาก อภ. และมีส่วนหนึ่งแจกจ่ายให้ผู้ป่วยไปแล้ว ล่าสุด มีผู้ป่วยที่ได้รับยาทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากข่าว จึงนำยาที่ได้รับกลับมาส่งคืนโรงพยาบาล

"ก่อนหน้านี้ผู้แทน อภ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่เภสัชกรโรงพยาบาลยางชุมน้อย เพื่อตรวจสอบยา โดยเปิดแพคยาที่บรรจุเม็ดยา ปรากฏว่าเป็นยาที่ถูกต้องตรงกับฉลากที่ห่อหุ้มเม็ดยาด้านนอก ไม่ใช่ยาที่มีปัญหา แต่เมื่อได้รับคำสั่งให้ส่งยาคืน สสจ.ศรีสะเกษจึงเรียกเก็บยาทั้งหมดคืนเพื่อส่งให้ อภ.ต่อไป ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาไปและมีรายชื่อของการจ่ายยาในล็อตนี้ด้วย ได้สั่งการให้ติดตามผู้ป่วยไปให้ครบทุกคน แต่ไม่พบผู้ป่วยที่รับยาไปรับประทานมีความผิดปกติแต่อย่างใด สำหรับจำนวนยาที่ส่งคืนกลับมายังไม่มาก ผมให้ความมั่นใจได้ว่ายาที่จ่ายไปไม่มีผลกับผู้ป่วย ตัวยาจริงๆ มีผลน้อยมาก เนื่องจากเป็นยาในกลุ่มประเภทที่ใกล้เคียงกัน" นพ.ประวิกล่าว

ขณะที่ นพ.ศิริชัย ลิ้มสกุล สสจ.ลพบุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลโคกสำโรง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี เป็น 1 ในโรงพยาบาล 7 แห่งที่ได้รับมอบยาจาก อภ. ขณะนี้ได้ส่งยากลับคืนให้ อภ.หมดแล้วตั้งแต่วันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา โดยไม่มีการแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยแม้แต่เม็ดเดียว ในจุดนี้ขอให้ประชาชนสบายใจได้

"โรงพยาบาลโคกสำโรงไม่ใช่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ และยาที่ได้รับมาใหม่ เราเตรียมเอาไว้ใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป ส่วนยาที่ออกให้ประชาชนนำไปใช้เป็นยาเก่าที่ยังไม่หมด" นพ.ศิริชัยกล่าว

ที่ จ.อำนาจเจริญ นางเพ็ญศรี พันธ์บุตร อายุ 68 ปี อยู่บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 1 ต.พนา อ.พนา จ.อำนาจเจริญ เข้าร้องเรียน "มติชน" ว่า โรงพยาบาลจัดยาไม่ตรงกับโรค เมื่อรับประทานไปแล้วมีอาการเวียนศีรษะ อาเจียนและถ่ายอย่างรุนแรง โดยเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลพนา อ.พนา เพื่อรักษาอาการป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตมากว่า 10 ปี หลังแพทย์ตรวจแล้วเสร็จได้รับยาก่อนเดินทางกลับบ้าน เมื่อนำมารับประทานเกิดอาการเวียนศีรษะ อาเจียน และขับถ่ายหลายครั้ง กระทั่งในวันนี้ (8 กันยายน) เห็นข่าวตามสื่อมวลชนเรื่องการจัดยาผิดซอง เมื่อนำมาเทียบพบว่าตรงกับยาที่ได้รับจากโรงพยาบาลพนา จึงหยุดรับประทานยา และจะเข้าร้องเรียนที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน  วันที่ 9 กันยายน 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง