ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจกล่าวได้ว่า ประกันสังคม คือสิทธิและสวัสดิการที่สะท้อนถึงความมั่นคงในชีวิตอย่างหนึ่งของแรงงานไม่เพียงแต่แรงงานท้องถิ่น แต่ยังรวมถึงแรงงานต่างด้าวที่เข้าไปทำงานในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย

เมื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และหน่วยงานด้านประกันสังคมของอาเซียน ที่จะต้องเตรียมการรองรับสถานการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป

ข้อมูลจากสำนักเงินสมทบ กลุ่มงานทะเบียนผู้ประกันตนระบุว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมและยังอยู่ในระบบจำนวนทั้งสิ้น322,526 ราย แบ่งเป็นสัญชาติพม่า 179,116 รายสัญชาติลาว 10,367 ราย สัญชาติกัมพูชา 60,811 ราย สัญชาติอื่นๆ72,232 ราย

ขณะที่ อารักษ์ พรหมณี  รองเลขาธิการ สปส.วิเคราะห์ว่า จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเรื่องแรงงานทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่ตอนเข้าเมืองมาเลย เพราะปัจจุบัน สปส.ประสบปัญหาทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เช่น คนที่มาขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวไม่สอดคล้องกับคนที่เข้าเมืองและคนที่มารับสิทธิประกันสังคม สิทธิประโยชน์ที่แรงงานต่างด้าวได้รับก็ไม่ตรงกับระยะเวลาที่เข้ามาพำนัก

ยิ่งก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ปัญหาต่างๆ จะยิ่งชัดเจนขึ้น อีกทั้งอาจเกิดปัญหาอื่นเพิ่มเติมเช่นการแย่งชิงทรัพยากร สัดส่วนผู้เข้ารับการรักษาจะเพิ่มขึ้นจนมากกว่าสัดส่วนบุคลากรทางการแพทย์หลายเท่า ทำให้ต้องรอการรักษานานขึ้น นอกจากนี้ อาจเกิดปัญหาด้านความได้เปรียบเสียเปรียบเชิงธุรกิจตามมาอีกด้วย เนื่องจากในการลงทุนแต่ละครั้งองค์กรจะต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบด้วย หากแต่ละประเทศมีระบบประกันสังคมต่างกันก็จะสร้างความไม่เท่าเทียมตามมา

"ในด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรีเรามีความตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพ หรือเอ็มอาร์เอ แต่ในด้านประกันสังคม เรายังไม่เคยพูดคุยกันเลยว่าจะมีมาตรฐานร่วมกันอย่างไร"

แม้ปัจจุบันอาเซียนจะก่อตั้งสมาคมประกันสังคมอาเซียน (ASSA) ขึ้นมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการพูดคุยถึงการสร้างมาตรฐานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม นับจากนี้ควรต้องมีการร่างความตกลงความมั่นคงทางสังคม (Social Security Agreement) ร่วมกัน เพื่อสร้างมาตรฐานระดับอาเซียน เพื่อให้เกิดเงื่อนไขที่เป็นธรรมและชัดเจน และควรลงขันร่วมกันเป็นกองทุนมาช่วยทำให้ไปถึงมาตรฐานดังกล่าวได้จริง

กลับมาที่ประเทศไทย สิ่งที่ สปส.ต้องทำเบื้องต้นประกอบด้วย

1.การพัฒนาบริการต้องพร้อมดูแลให้แรงงานต่างด้าวทุกสัญชาติสามารถเข้าถึงบริการของประกันสังคมได้ ต้องมีป้ายและแผ่นพับข้อมูลบริการหลากหลายภาษา เพื่อให้ข้อมูลและบอกจุดรับบริการแก่คนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง

2.การทบทวนมาตรฐานสิทธิประโยชน์ต้องกลับมาพิจารณากันใหม่ว่าสิทธิประโยชน์ในแต่ละด้านได้มาตรฐานสากลแล้วหรือยัง สวัสดิการแต่ละประเภทคุ้มครองแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวเท่าเทียมกันหรือไม่ จะแก้ปัญหาขั้นตอนช้า-เร็วอย่างไร

3.การพัฒนาบุคลากรต้องมีการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านภาษา และพัฒนาด้านทักษะความรู้ให้แก่บุคลากรรุ่นใหม่ให้พร้อมขึ้นมาทดแทนบุคลากรที่กำลังจะเกษียณและขาดช่วงไป จากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ด้าน วรโชค ไชยวงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าระบบประกันสังคมของไทยแทบจะเป็นระบบที่ดีที่สุดในอาเซียน อะไรที่ประเทศอื่นไม่กล้าจ่ายเรากล้าจ่าย อีกทั้งตอนกำหนดโรคที่ดูแลครอบคลุม ก็กำหนดให้ครอบคลุมโรคที่หมดไปแล้วจากสังคมไทย แต่ยังไม่หมดไปจากเพื่อนบ้านด้วย

"ตอนนี้จึงหมดยุคทองของสถานการณ์การคลังของกองทุนประกันสังคมแล้ว ทิศทางนับจากนี้จำนวนผู้ประกันตนก็จะมากขึ้น โรคมากขึ้น การเบิกจ่ายของแรงงานต่างด้าวมากขึ้น ประกันสังคมต้องปรับเปลี่ยนทั้งระบบตั้งแต่การพิสูจน์ตัวตนแรงงานต่างด้าวและทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น นำข้อมูลมาเตรียมการไว้ก่อน"

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 9 กันยายน 2556