ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นอีกหนึ่งวัเป้าหมายของภาครัฐที่จะผลักดันเข้าสู่ตลาดเออีซี ด้วยมูลค่าการส่งออก กว่า 9 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา ทั้งยังมีโอกาสเติบโตในตลาดโลกอีกมาก จากสัดส่วนการตลาดเพียงร้อยละ 1 ของตลาดโลก ทั้งยังเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลจะใช้ขับเคลื่อนให้ประเทศไทย ก้าวสู่ฮับอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพในอาเซียน

ขณะที่มูลค่าทางการตลาดในประเทศเพิ่มจาก 25,958 ล้านบาทเมื่อปี 2553 เป็น 38,000 ล้านบาทในปี 2558  แบ่งกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพการออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.วัสดุการแพทย์ เช่น สายใส่ทางเดินอาหารชุดให้น้ำเกลือ 2.ชุดวินิจฉัยนอกร่างกาย เช่น เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด ชุดทดสอบการตั้งครรภ์  3.อุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์ เช่น รถเข็น ถุงมือผ่าตัด หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 4.ระบบและการจัดการ เช่น ระบบเชื่อมข้อมูลระหว่างเครื่องมือและระบบข้อมูล

ก.วิทย์หนุนใช้ไฮ-เทคโนโลยี

 ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย กล่าวว่า ไทยมีความได้เปรียบในด้านพื้นที่ตั้งของประเทศ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาเซียน อีกทั้งรัฐบาลโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ผ่านทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำ "โครงการวิจัยพัฒนาและออกแบบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพ" ภายใต้กรอบวงเงิน 23.8 ล้านบาท

โครงการวิจัยฯ มีเป้าหมายผลักดันให้มีขีดความสามารถในการผลิต หรือการออกแบบวัสดุอุปกรณ์ โดยใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น และมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์และได้มาตรฐานสากล เป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558  ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้มีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 270 ราย ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงมากนักและเน้นการผลิตที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก

"ข้อดีของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในบ้านเราก็คือ เราเป็นโออีเอ็มในอุตสาหกรรมนี้ แต่การที่จะส่งออกไปหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ยังต้องมีการพัฒนาไปอีกหลายเรื่อง รวมถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มาต่อยอดในระดับอาเซียนต่อไป" นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติกล่าว

เอกชนแจงอุปสรรคที่ต้องผ่าน

แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะมีโครงการผลักดันวัสดุเครื่องมือแพทย์ให้อยู่แถวหน้าของอาเซียน แต่ในมุมของผู้ประกอบการกลับมีข้ออุปสรรคที่ต้องการแก้ไขโดยด่วน

ภก.ปรีชา ฉายภาพปัญหาว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์นำเข้าปีละหลายหมื่นล้านบาท หน่วยงานของรัฐและเอกชนไม่หันหน้าเข้าหากัน ทั้งเรื่องของทุนวิจัย นโยบายที่เอื้อให้เกิดการลงทุน ทั้งการพัฒนานวัตกรรมหรือการนำเข้าโนว์ฮาวเพื่อผลิตเองภายในประเทศ

แม้ตอนนี้รัฐบาลจะประกาศให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เป็นหนึ่งในยุทธ์ศาสตร์ที่ขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวสู่เวทีสากล แต่อุปสรรคของแผนดังกล่าวอยู่ตรงที่ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ออกมาเป็นแบบต่างฝ่ายต่างทำ ไม่มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างองค์กร ทำให้เสียงบวิจัยเชิงพื้นฐานค่อนข้างมาก นอกจากนี้ไทยยังขาดมาตรฐานรองรับในเรื่องเครื่องมือแพทย์  ISO13485

"รัฐควรกระตุ้นให้เกิดการวิจัยมากกว่าเดิม รวมถึงมีนโยบายให้หน่วยงานของรัฐอุดหนุนเทคโนโลยีคนไทยด้วยกัน และผลักดันให้เกิดการนำไปขยายผลสู่การใช้งานจริง เพื่อสร้างการยอมรับในสังคมไทยด้วยกันเองก่อนที่จะส่งไปยังตลาดต่างประเทศ" นายกสมาคมฯ กล่าวและว่า ไม่จำเป็นที่เราต้องทำวิจัยใหม่ตั้งแต่ต้น เพราะใช้เวลานาน อีกทั้งบุคลากรด้านการวิจัยมีน้อยเพียง 9 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน ขณะที่สิงคโปร์มีนักวิจัยถึง 68 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน และควรส่งเสริมแรงงานด้านวิศวกรชีวการแพทย์ให้มีงานรองรับในสถานพยาบาลที่ชัดเจน

แม้จะมีสถาบันการศึกษาของไทยที่เปิดหลักสูตรด้านวิศวกรชีวการแพทย์มากขึ้น แต่รัฐยังไม่ให้ความสำคัญในการบรรจุบุคลากรด้านนี้ในโรงพยาบาล เพื่อให้เรียนรู้เทคโนโลยีจากเครื่องมือแพทย์ที่มีอยู่โดยตรง ทำให้ยังขาดแรงงานในภาคปฏิบัติ และเมื่อต่างชาติเข้ามาลงทุนก็ขาดแรงงานที่ชำนาญด้านนี้รองรับหรือคอยให้บริการ

แนะบีโอไอส่งเสริมลงทุน

ทางสมาคมฯ นำเสนอสิ่งที่รัฐควรทำเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านเครื่องมือแพทย์อาเซียน คือ การมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ  บีโอไอ กำหนดมาตรการที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนโดยคนไทยมากขึ้น หรือชักชวนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนขายโนว์ฮาวให้เอกชนไทย เพื่อที่จะผลิตและต่อยอดได้เองในอนาคต ลดการพึ่งพานวัตกรรมทางการแพทย์ที่นำเข้ามา

รวมทั้งควรจะทบทวนขยายระยะเวลาการรับสิทธิพิเศษทางบีโอไอให้มากกว่า 8 ปีที่กำหนดไว้ รวมถึงการช่วยเหลือด้านภาษีให้กับบริษัทที่นำโนว์ฮาวมาต่อยอดและพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นให้มีการลงทุนในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

"สามกระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง ทั้งสาธารณสุข วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม จะต้องทำงานร่วมกันในการกำจัดอุปสรรคต่างๆ ทั้งการจัดหาเทคโนโลยี ปรับกฎระเบียบในการนำเข้า การขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ การโฆษณา ซึ่งที่ผ่านมาถูกจำกัดเรื่องการเผยแพร่คุณสมบัติ ไม่เหมือนประเทศอื่นที่สามารถทำการค้าและโฆษณาได้อย่างเสรี  จึงทำให้คนรู้จักได้ดีกว่าเครื่องมือแพทย์ของไทย" นายกสมาคมฯ กล่าว

ในส่วนบทบาทของสมาคมฯ มุ่งให้ความรู้กับสมาชิกหรือผู้ประกอบการด้านกฎ กติกาต่างๆ ในการวิจัยและพัฒนาหรือการนำเข้า และประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับเอกชน ให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำเสนอเทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ๆ เข้าสู่ระบบเบิกจ่าย เพื่อให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงนวัตกรรมทางการรักษา ผ่านสิทธิประโยชน์ส่วนบุคคลต่างๆ

ในปีนี้ สมาคมฯเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงเครื่องมือแพทย์ (Medical fair Thailand 2013) ระหว่าง 12-14 กันยายนนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศกว่า 400 บริษัทร่วมนำผลงานและเทคโนโลยีล่าสุดมาแสดง ผู้ประกอบการไทยจะได้อัพเดทเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการแพทย์ของโลก รวมถึงได้รับความรู้จากกิจกรรมเวทีเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกทางด้านนวัตกรรมในการตรวจ การรักษาและการป้องกันโรค

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 10 กันยายน 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง