ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงคือระบอบการปกครองที่เคารพสิทธิเสียงของประชาชนทุกกลุ่มคน ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยเสมอไป แม้ว่าการเลือกตั้งจะทำให้ได้มาซึ่งผู้ปกครองที่เลวน้อยที่สุด แต่ในท่ามกลางความซับซ้อนของระบบการเมืองไทย รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีแนวโน้มที่กำลังจะก้าวไปสู่การเผด็จการเสียงข้างมากที่ไม่รับฟังเหตุผลหรือสิทธิของเสียงข้างน้อย เฉกเช่นเดียวกับกรณีของแพทยสภา

แพทยสภาเป็นตัวอย่างที่สะท้อนความล้มเหลวจากระบอบการเลือกตั้งธิปไตยที่นำมาใช้ในสภาวิชาชีพ แพทยสภาตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2511ในขณะนั้นมีแพทย์เพียงหลักพันคน แพทย์ส่วนใหญ่อยู่ในภาครัฐ อยู่ในส่วนของการให้บริการประชาชน การแพทย์ยังห่างไกลจากการค้า การแพทย์ในสมัยนั้นคือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้บรรเทาความทุกข์จากการป่วยไข้และแพทย์เองก็มีรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อการเลี้ยงชีพสร้างครอบครัว ในสมัยนั้นการเลือกตั้งแพทยสภามีความสมดุล แพทย์ที่เข้ามามีสัดส่วนที่เหมาะสมจากหลายภาคส่วน มีความสามัคคีมีวิชาการและจริยธรรมนำในการทำหน้าที่สภาวิชาชีพ

แต่วันนี้แพทย์ไทยมีกว่า 40,000 คน ในจำนวนนี้เป็นแพทย์ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวนราว 10,500 คนหรือ 25% ของแพทย์ทั้งหมด แปลว่าแพทย์อีกกว่า 30,000 คนหรือ 75% นั้นอยู่ในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาลรัฐในสังกัดอื่นโรงพยาบาลเอกชน หรือเปิดคลินิกส่วนตัว ในจำนวนแพทย์ 10,000 คน ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น เป็นแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนราว 4,000 คนเท่านั้น นั่นหมายความว่าสัดส่วนของแพทย์ชนบทต่อแพทย์ทั้งหมดน้อยกว่า 10% และมีแน้วโน้มของสัดส่วนที่ลดลงเรื่อยๆ เพราะแพทย์ที่ผลิตเพิ่มได้ เมื่อใช้ทุนครบก็เลือกที่ไปอยู่ในเมือง ไปทำงานในโรงพยาบาลจังหวัด โรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลเอกชน

จึงไม่แปลกที่การเลือกตั้งแพทยสภาใน 15 ปีหลังนี้ แพทย์ชนบทไม่ได้รับการเลือกตั้งเลยและสุดท้ายจึงไม่ส่งใครลงเลือกตั้ง กลุ่มแพทย์ที่เข้าไปเป็นกรรมการแพทยสภาวาระพ.ศ.2556-2558 จำนวน 26 คนที่มาจากการเลือกตั้งนั้น กลุ่มชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์(ชพพ.) ได้รับเลือก 20 คน ซึ่งชื่อก็ชัดเจนว่า "เพื่อวิชาชีพแพทย์" มีผู้สมัครอิสระได้รับเลือกเพียงคนเดียว และใน 26 คนนี้เป็นคนเดิมจากวาระก่อนหน้านี้ถึง 21 คนแทบจะเป็นการผูกขาดโดยกลุ่มบุคคลกลุ่มเดียวอย่างยาวนาน

ระบบการเลือกตั้งแบบเลือกตั้งทั่วไปแบบการเลือก ส.ส.นั้น แม้จะดีโดยทฤษฎีแต่ก็มีข้อจำกัดที่อาจไม่ได้ตัวแทนที่มาจากคนทุกกลุ่ม ไม่ได้ผู้ทรงความรู้ความสามารถที่เข้าไปทำหน้าที่ การเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาได้สะท้อนความจริงให้เห็นแล้ว การให้วุฒิสมาชิกมีที่มาจากการเลือกตั้งแบบเลือก ส.ส. จึงน่าเป็นห่วงยิ่งสำหรับสภาสูงที่จะเป็นเพียงสภาผู้แทนราษฎรชั้นสูงที่ผิดเจตนารมณ์ในการเป็นสภากลั่นกรองและถ่วงดุลสภาผู้แทนราษฎร

การมีเสียงของคนทุกกลุ่มในสังคมเข้าไปเป็นกลไกอำนาจรัฐเพื่อสะท้อนทัศนะ ให้มุมมองที่แตกต่าง ดูแลประโยชน์สาธารณะนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง กรณีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกทั้ง 200 คนแบบเลือกตั้ง ส.ส.นั้น ก็จะได้ ส.ว.ที่ไม่ต่างจาก ส.ส. อนาคตก็จะเป็นเผด็จการเสียงข้างมากในรัฐสภาสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับแพทยสภาในปัจจุบันที่เสียงของกลุ่มคนที่ไม่ได้ได้รับการเลือกตั้งถูกมองข้าม ละเลย ซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะประชาธิปไตยที่แท้ต้องเคารพในเสียงของคนทุกกลุ่ม

แพทยสภาจึงถึงเวลาที่ต้องปฏิรูป ควรหันมาใช้ระบบสัดส่วนตามจำนวนแพทย์ที่มีของแพทย์ในแต่ละกลุ่ม ให้ทุกกลุ่มมีสิทธิเสียง มีสมดุลแห่งอำนาจที่จะสามารถยังประโยชน์ต่อสาธารณะได้สูงสุด มีการเคารพในเหตุผลที่แตกต่างไม่ใช่ยึดแต่การยกมือโหวตตามใบสั่งแบบฝักถั่วเสียงข้างมาก สังคมไทยควรศึกษาบทเรียนจากแพทยสภา อย่าปล่อยให้วุฒิสภาเจริญรอยตามแพทยสภาที่กลายเป็นสภาของพรรคพวกไปเสียแล้ว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน  วันที่ 10 กันยายน 2556