ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

FTA ระหว่างไทยและอียูมีข้อบทเจรจาที่จะส่งผลให้ยาในไทยแพงขึ้นอีกได้สามประการ ประการแรก ได้แก่ การขอต่ออายุสิทธิบัตรหากเกิดความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรในไทย  เดิมความคุ้มครอง 20 ปี อาจขยายเวลาออกไปอีก1-5 ปีเมื่อมีความล่าช้า ทำให้ช่วงเวลาที่จะขายยาในราคาแพงย่อมนานขึ้นเพื่อชดเชยความล่าช้าที่เกิดขึ้น ผลลัพธ์คือทำให้ยาสามัญราคาถูกกว่าหลายสิบเท่า ที่มีตัวยาเดียวกันที่ผลิตแล้วและมีขายในต่างประเทศแล้วไม่สามารถนำเข้ามาขายในไทยได้ จนกว่าอายุความคุ้มครองสิทธิบัตรจะหมด ประเด็นจึงอยู่ที่อียูให้คำจำกัดความของคำว่า "ล่าช้า" ไว้อย่างไร

ปัจจัยอะไรที่จะอ้างว่า "ล่าช้า" ไทยต้องเจรจาให้กำหนดให้ชัดเจน ต้องพิจารณาต่อรองให้ตัดออกให้ได้ เพื่อในทางปฏิบัติจะไม่เกิดการยืดเวลาคุ้มครองสิทธิบัตร

ประการที่สอง ได้แก่ การคุ้มครองข้อมูลการทดสอบยา อันเป็นข้อมูลที่บริษัทยาต้องใช้ในการขึ้นทะเบียน เพื่อได้รับสิทธิการจำหน่ายนานถึง 5 ปี ปัญหาคือ หากบริษัทยานำข้อมูลทดสอบยามาขึ้นทะเบียนในไทย หลังจากสิทธิบัตรหมดอายุ ก็จะสามารถได้รับความคุ้มครองไปอีก 5 ปี รวมเวลาคุ้มครอง 25 ปี หรือ ก่อนหน้านี้อาจไม่ขายยาตัวนี้ในไทยแต่ขายอยู่ที่ประเทศอื่น ๆ ต่อมาคิดจะขายในไทยเมื่อใด ก็มาขึ้นทะเบียนข้อมูลทดสอบยาก็จะยังได้รับความคุ้มครองให้ขายในราคาแพงได้อีก 5 ปี โดยจะไม่มียาสามัญที่อาจขายอยู่แล้วในต่างประเทศ นำเข้ามาขายแข่งในไทยได้

แนวทางป้องกัน คือ ต้องเจรจาให้กำหนดวันที่มีการขึ้นทะเบียนข้อมูลทดสอบยาครั้งแรกที่ประเทศใดในโลก ให้ถือวันนั้นว่าได้ขึ้นทะเบียนข้อมูลทดสอบยาไว้แล้วในไทยในวันเดียวกัน ระยะเวลาการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาในไทย จึงต้องไม่ยาวนานกว่าในประเทศแรกที่บริษัทยาเริ่มขายยาตัวนั้น

ประโยชน์สำหรับเรื่องนี้จะทำให้ไทยมั่นใจได้ว่า ระยะเวลาคุ้มครองก็ไม่ยาวนานกว่าในประเทศอื่น ๆ และจะสิ้นสุดลงพร้อม ๆ กันกับในประเทศอื่นๆและยาใหม่ๆ ที่เริ่มขายในประเทศอื่นในโลกจะมีขายในประเทศไทยด้วย  เพราะว่าบริษัทยาเหล่านี้ น่าจะไม่ยอมเสียโอกาสเวลาคุ้มครองในการขายยาของตนในไทยและยาสามัญที่ผลิตในโลกก็จะมีขายในไทยพร้อมๆกัน

ส่วนประการที่สาม ได้แก่ การกำหนดเงื่อนไขที่จะไม่อนุญาตให้ใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร เรื่องนี้ไทยคงต้องยืนยันให้เงื่อนไขเป็นไปตามที่นานาประเทศได้ตกลงไว้ภายใต้ TRIPS ใน WTO นอกจากนี้ การให้มีสิทธิบัตรใหม่สำหรับยาตัวเดิม แต่พบในภายหลังว่ารักษาโรคอื่น แตกต่างจากที่จดสิทธิบัตรไว้ก่อนย่อมต้องทำไม่ได้ หรือการจดสิทธิบัตรใหม่สำหรับยาตัวเดิมแต่เปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ยาใหม่ย่อมต้องทำไม่ได้เช่นเดียวกัน

ยังมีอีกประเด็นที่จะต้องกล่าวถึง ได้แก่ สิทธิของนักธุรกิจที่จะฟ้องร้องรัฐ หากเกิดความเสียหายจากนโยบายรัฐ เมื่อบริษัทเอกชนต่างประเทศเห็นว่านโยบายรัฐขัดขวางการสร้างรายได้ เช่น กรณีพิมพ์รูปคนป่วยเป็นมะเร็งบนซองบุหรี่หรือพิมพ์ข้อความเพื่อให้คนเลิกบุหรี่ บริษัทบุหรี่อาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย เพราะอ้างว่าทำให้ขายได้น้อยลง

ในการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างอียูและสหรัฐ เพื่อปกป้องอียูเอง อียูเสนอต่อสหรัฐว่าต้องกำหนดด้วยว่า ผู้ฟ้องร้องภายใต้ข้อบทนี้ต้องรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสาธารณชนด้วย เช่นหากกรณีบุหรี่นี้มีการฟ้องร้อง ก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยที่เกิดจากการสูบบุหรี่ด้วย เมื่ออียูเองก็ยังขอเพิ่มข้อบทเยียวยาสาธารณะเป็นเงื่อนไข ทำไมไทยไม่เพิ่มข้อบทนี้กับอียูบ้าง

ไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนสิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซียล้วนทำ FTA กับอียู ไทยตกอยู่ในสถานะที่จะต้องทำ FTAด้วย มิฉะนั้น ความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยจะมีไม่น้อย อันจะกระทบความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ทำให้การส่งออกลดลงเสียตลาดให้ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศก็จะลดลงขณะที่ประเทศอื่น ๆ จะเพิ่มขึ้น เมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีน้อยหรือไม่มีเลย ประชาชนคนไทยโดยเฉลี่ยก็จะยากจนลง

แต่การเจรจาต่อรอง FTA ต้องให้ผลลัพธ์ในภาพรวมที่ไทยได้ประโยชน์มากกว่าเสีย และประชาชนคนไทยทั่วไป ต้องไม่ได้รับความเดือดร้อนที่ไม่อาจเยียวยาได้ทั้งหมดที่เสนอมานี้จึงเป็นข้อเสนอแนวทางเจรจา เพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าหมายดังกล่าว

ผู้เขียน : บัณฑูร วงศ์สีลโชติ ประธานคณะกรรมการความยั่งยืนทางธุรกิจ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 กันยายน 2556