ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ - สินค้าผูกขาด...มักเป็นปัญหาหรือกับดักที่หลายๆ องค์กรไม่ว่าภาครัฐหรือธุรกิจเอกชน ชอบที่จะมองข้ามกันไป โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวิถีการทำงาน และผู้ที่เป็นผู้บริหารขององค์กรนั้นๆ ก็จะไม่ค่อยใส่ใจเช่นเดียวกัน

ถ้าไปติดตามผลลัพธ์การทำงานขององค์กรเหล่านี้ จะเห็นภาพที่ออกมาไม่สวยงามมากนักอยู่เสมอ กับผลผลิตที่ย่ำแย่ หรือบริการที่มีแต่ลูกค้าบ่นและร้องเรียน

ก็จะไม่ด้อยได้อย่างไรครับ ในเมื่อผู้คนที่อยู่ในองค์กรนั้นๆขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน เรียกว่า...สำนึกความตระหนักไม่มีในหัวใจเท่าไหร่นัก

สำนึก...เกิดขึ้นยากครับ เพราะผู้คนเหล่านั้นไม่ได้มีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของ และที่สำคัญไปกว่านั้น การทำงานจะย่ำแย่อย่างไร เจ้าตัวเองยังเห็นว่าตนนั้นมีเงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกปี แถมโบนัสก็ได้ในทุกปีไม่เคยขาด เรียกว่า...แฮปปี้ทุกอย่างในชีวิต

องค์กรที่ไม่มีการแข่งขันก็เป็นอย่างนี้ละครับท่านที่รัก...ถ้าจะมีท่านที่รักถามหาว่า...จะหาดูได้ที่แห่งหนตำบลไหน ก็หาได้ไม่ยากละครับท่าน โดยเฉพาะบรรดารัฐวิสาหกิจทั้งหลายที่เป็นองค์กรลูกของรัฐนั้นเอง

ผู้คนในองค์กรเหล่านี้ จะไม่เคยเห็นและสัมผัสไงครับ กับการทำงานที่ไม่มีคู่แข่งที่มากระตุ้นการทำงาน ไม่เคยสัมผัสความสูญเสียทางธุรกิจ เพราะมีแม่ คือรัฐที่ช่วยประคองอยู่ตลอดเวลา

กรณีที่เป็นข่าวและเห็นได้ง่ายในวันนี้ ได้แก่... องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นหน่วยธุรกิจซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตยาหรือเวชภัณฑ์ขาย ซึ่งบางท่านเรียกว่าดินแดนสนธยาของกระทรวงสาธารณสุข ที่ผู้คนต้องทุกข์ทุกที เมื่อเกิดข่าวสารตามหน้าหนังสือพิมพ์

กรณีที่เกิดขึ้นสำหรับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้แก่...ปัญหาการบรรจุยาผิด คือ ยาขยายหลอดเลือด ใช้ในการรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นหลัก และยาลดความดันโลหิตสูงที่มีการสลับกันไป โดยมีการกระจายไปตามโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 7 แห่ง

ขณะที่ น.พ.ประดิษฐ สินธวรณงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า...เภสัชกรประจำโรงพยาบาลเหล่านั้นสังเกตและพบเห็น

ตนทราบจึงได้สั่งการให้หยุดจ่ายยา และเรียกคืน พร้อมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ตรวจสอบเรื่องนี้เนื่องจากมีการพูดกันว่าเกิดจากขั้นตอนการผลิตช่วงกลางคืน

เรียกว่า...การทำงานนั้น มีชีวิตชาวบ้านตาดำๆ อย่างเราท่านๆ เป็นเครื่องสังเวยกันได้ตลอดเวลาก็เอาหมอไปต่อยมวยนี่ครับ ผลงานจึงออกมาเป็นอย่างนี้ ก็ไม่รู้ว่า...อีกมุมหนึ่งขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) นั้น ยังเป็นดินแดนแห่งความลี้ลับของผลประโยชน์มหาศาลซ่อนเร้นอยู่อีกมากมายหรือไม่

หรือเป็นเพราะสงครามย่อยๆ ในองค์การ ที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านผู้นำคนใหม่ขององค์การจากกลุ่มใหม่ จึงเป็นผลให้เกิดการปล่อยอาวุธลับแฝงไว้ในการทำงานเพื่อทำลายคู่แข่ง

องค์กรผูกขาด...ก็เป็นอย่างนี้แหละครับ เพราะ...เมื่อไม่มีการแข่งขันภายนอก ก็จะเหลือแต่การแข่งขันภายใน ที่เป็นสงครามแย่งชิงเป็นใหญ่ในผลประโยชน์กันเอง...

ก็เหลือแต่...สำนึกว่า...ยังหลงเหลืออยู่มากน้อยเท่าไหร่...เหลือมากประชาชนก็โชคดีมาก เหลือน้อยประชาชนก็โชคร้ายมากกว่าโชคดี ก็เท่านั้นแหละครับท่านผู้อ่าน

ที่มา: หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ วันที่ 12 - 13 ก.ย. 2556