ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนังสือพิมพ์สยามรัฐ - นับจากที่ไทยและชิลีสามารถสรุปผลการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันและที่ประชุมรัฐสภาของไทยได้เห็นชอบความตกลงดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 12 มี.ค.2556 นั้น ในขณะนี้ ไทยกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อลงนาม FTA ไทย-ชิลี ในช่วงที่ประธานาธิบดีของชิลีเดินทางเยือนระหว่างวันที่ 3-4 ตุลาคม 2556 และคาดว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในปลายปี2556 นี้FTA ไทย-ชิลีนับเป็นความตกลงแบบกรอบกว้าง (Comprehensive Agreement) ที่ครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการ พิธีการศุลกากร กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการปกป้องและเยียวยาทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความโปร่งใส ส่วนประเด็นด้านการลงทุนจะมีการเจรจาภายใน 2 ปี นับจาก FTA มีผลบังคับใช้ศักยภาพ

การเปิดการค้าเสรีกับประเทศในอเมริกาใต้นั้นมีความน่าสนใจในแง่ที่ว่าตลาดอเมริกาใต้เป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีปัจจัยดึงดูดการค้าการลงทุนหลายประการโดยเฉพาะชิลี เนื่องจากเป็นประเทศที่มีภาวะเศรษฐกิจและการเมืองมั่นคงมากที่สุดประเทศหนึ่งในอเมริกาใต้ มีอัตราการเจริญเติบโตของจีดีพีเฉลี่ยร้อยละ 4-6 ต่อปีจากการพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 40 ของจีดีพีโดยมีทองแดงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอย่างไรก็ดี แม้ขนาดเศรษฐกิจของชิลีจะใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของภูมิภาค แต่รายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per Capita) ของชิลีสะท้อนให้เห็นว่าชาวชิลีนั้นเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อเฉลี่ยสูงที่สุดในภูมิภาค (15,315 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี)

ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดชิลีการยกเลิก/ลดมาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษีระหว่างกันจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยให้สินค้าไทยขยายปริมาณการส่งออกไปยังชิลีและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอเมริกาใต้ได้มากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านการส่งออกที่เกิดขึ้นท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยกับประเทศที่ได้ทำ FTA กับชิลีไปก่อนหน้านี้อย่างจีนมาเลเซีย และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการไทยสามารถลดต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า โดยเฉพาะทองแดงและสินแร่เหล็ก เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตได้อีกด้วย โดย FTA ไทย-ชิลีนี้จะทำให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้ากว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมดและของมูลค่านำเข้าลดลงเหลือร้อยละ 0 ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ และอีกร้อยละ 10 ที่เหลือนั้นจะทยอยลดอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งในปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยของชิลีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6

ประเภทสินค้าที่ไทยคาดว่าจะได้ประโยชน์จาก FTA ฉบับนี้ ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋อง อาหารแปรรูป ผลไม้กระป๋องเครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา เม็ดพลาสติก ปูนซิเมนต์ อัญมณีและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

ในส่วนของยานยนต์และส่วนประกอบ ตลาดรถยนต์และรถกระบะในชิลีนับว่ามีความน่าสนใจอย่างมาก ปัจจุบันยานพาหนะในชิลีมีจำนวนประมาณ 3.5 ล้านคัน แต่เนื่องจากปัจจุบันชิลีเป็นประเทศที่ไม่มีอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ จึงต้องนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (CBU) จากต่างประเทศทั้งหมด ในปี 2555 ชิลีมีการนำเข้ารถยนต์จำนวนทั้งสิ้น 350,699 คัน เป็นการนำเข้าจากเกาหลีใต้มากที่สุด (ประมาณ1 แสนคัน) รองลงมา คือ จีน (6 หมื่นคัน)และญี่ปุ่น (4 หมื่นคัน) โดยไทยเป็นอันดับที่4 (2.5 หมื่นคัน) ในจำนวนรถที่นำเข้าจากไทยนี้ราวร้อยละ 96 เป็นรถกระบะขนาด 1 ตัน และในอนาคตคาดว่า เมื่อกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวส่งผลให้ความต้องการรถยนต์ในชิลีมีแนวโน้มจะขยายตัวเช่นกัน โดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยเฉพาะรถยนต์ประเภทSUV (Sport Utility Vehicle)จะเป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้บริโภคในเมืองใหญ่ๆ เพิ่มมากขึ้น กระนั้น คู่แข่งที่สำคัญของไทยอย่างเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นยังครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลอย่างเหนียวแน่น ในขณะที่ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ซึ่งนิยมนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่เป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะรถกระบะขนาด 1 ตัน นับเป็นโอกาสทองของไทยเนื่องจากรถกระบะจากไทยเป็นที่ยอมรับทั้งด้านราคาและคุณภาพในตลาดชิลีอยู่แล้ว ดังนั้น หากการทำ FTA ไทย-ชิลีทำให้อัตราภาษีนำเข้ารถยนต์จากไทยลดลงย่อมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ชิลีนำเข้ารถยนต์และรถกระบะจากไทยเพิ่มขึ้นและนอกจากรถยนต์สำเร็จรูปแล้ว ชิลียังมีความต้องการนำเข้าอุปกรณ์ประดับยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงเป็นอีกสินค้าหนึ่งที่ไทยมีโอกาสเข้าไปทำตลาดในชิลี

ในปัจจุบัน ชิลีมีข้อตกลงทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนประมาณ 24 ฉบับครอบคลุมกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศในเอเชียที่ได้จัดทำ FTA กับชิลีและมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ได้แก่ จีน ญี่ปุ่นเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ในขณะที่ FTA เวียดนาม-ชิลีมีการลงนามไปแล้วเมื่อเดือน พ.ย. 2554 แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าชิลีมุ่งเน้นสนับสนุนการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ในหลายภูมิภาค และมีนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่ค่อนข้างเปิดกว้าง โดยจากสถิติในปี 2555 ชิลีมีมูลค่านำเข้า 70,566 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่เชื้อเพลิง ยานยนต์ เครื่องจักร และพลาสติกแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีนอาร์เจนตินา และบราซิล โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 18 ในส่วนของการส่งออก และในส่วนของมูลค่าการส่งออกนั้นอยู่ที่ประมาณ 76,791 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญ คือ ทองแดง(ร้อยละ 34.4 ของมูลค่าส่งออก) สินแร่เหล็ก(ร้อยละ 24.7 ของมูลค่าส่งออก) และผลไม้โดยเป็นการส่งออกไปยังจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและบราซิลเป็นหลัก ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 29 ของชิลี

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนจะพบว่าทุกวันนี้ไทยมีมูลค่าการค้า

กับชิลีมากที่สุดในภูมิภาครองลงมาคือเวียดนามและมาเลเซีย โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2551-2555) การค้าระหว่างไทยกับชิลีมีมูลค่าการค้าเฉลี่ยราวปีละ 702 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.17 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย

ในปี 2555 ไทยส่งออกไปชิลีเป็นมูลค่า 628 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละ 0.27 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด) และนำเข้าประมาณ 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ร้อยละ 0.14 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด)โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามาโดยตลอด(ยกเว้นปี 2552)

กล่าวโดยสรุปแล้ว แม้มูลค่าการค้าระหว่างไทยและชิลีในปัจจุบันจะยังไม่สูงมากนัก แต่ก็มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจัดทำ FTA ไทย-ชิลีจึงเอื้อให้สินค้าไทยสามารถเข้าสู่ตลาดชิลีได้อย่างสะดวกขึ้น และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยให้รักษาส่วนแบ่งตลาดในชิลีไว้ได้ นอกจากนี้ในส่วนของผู้ประกอบการไทย FTA ไทยชิลีจะเป็นประโยชน์ในแง่ของต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตที่ลดลงจากการลด/ยกเลิกอัตราภาษีนำเข้าของไทยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในระยะ 5 ปีนับจากFTA ไทย-ชิลีมีผลบังคับใช้ มูลค่าการค้าระหว่างไทยและชิลีจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยราวร้อยละ 13 ต่อปี ส่งผลให้มูลค่าการค้ามีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 1 เท่าตัวจาก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2556 เป็น 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2561 ชิลีจึงเป็นประเทศที่น่าจับตามองในฐานะคู่ค้าที่มีศักยภาพของไทยในอนาคต และเป็นประตูการค้าที่สำคัญของไทยในการขยายตลาดในลาตินอเมริกา

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ  วันที่ 13 กันยายน 2556