ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภายหลังการรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549 รัฐบาลชุดต่อ ๆ มาได้ริเริ่มที่จะฟื้นการเจรจาความตกลงเปิดเสรีทางการค้า (FTA) ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรปขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยในวันที่ 4 ธันวาคม 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างกรอบเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป พร้อมกับแต่งตั้งให้ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว รัฐบาลไทยได้เตรียมการเจรจาด้วยการตั้งคณะเจรจาย่อย 14 กลุ่ม ตามหัวข้อเจรจา FTA จนกระทั่งเดือนมีนาคม 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ได้ประกาศเปิดการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในระหว่างการเดินทางเยือนประเทศเบลเยียม พร้อมทั้งตั้งเป้าว่า การเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรปจะเจรจาสำเร็จภายใน 2 ปี ด้วยการแบ่งการเจรจาออกเป็น 3 รอบ

โดยการเจรจารอบที่ผ่านมา รัฐบาลไทยโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดทำ ขอบเขตการเจรจา (Scoping Exercise) ซึ่งสหภาพยุโรปได้เรียกร้องมาโดยตลอด พร้อมกับจัดทำกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปเผยแพร่เป็นการทั่วไป (เดือนมกราคม 2556) ก่อนที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง มีข้อน่าสังเกตว่า ก่อนที่จะเริ่มการเจรจากับสหภาพยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้พยายามเผยแพร่แนวคิดที่ว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรปให้ได้ก่อนปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางอัตราภาษีศุลกากร (GSP) ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยไม่ได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีต่อไป

พร้อมกับให้รายการสินค้าไทยที่ใช้สิทธิพิเศษ GSP อยู่ในอันดับต้น ๆ ได้แก่ รถยนต์ขนส่ง (ปิกอัพ), เครื่องปรับอากาศ, อาหารทะเลสด/แช่แข็ง, สับปะรดกระป๋อง, ถุงมือยาง และยางรถยนต์ กับความเชื่อที่ว่า เมื่อไม่มี GSP สินค้าไทยรายการเหล่านี้จะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าประเภทเดียวกันจากเวียดนาม, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และกลุ่มประเทศอาณานิคมเดิมในแอฟริกา-แคริบเบียนได้

การตั้งธงจะต้องจัดทำข้อตกลง FTA กับสหภาพยุโรปก่อนปี 2558 ส่งผลให้เกิดความกังวลในภาคส่วนอื่นของการเจรจาที่เกรงว่า รัฐบาลไทยอาจจะยินยอมตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปมากจนเกินไป จนส่งผลกระทบกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการคุ้มครองยา ซึ่งสหภาพยุโรปถือเป็นเรื่องสำคัญที่เรียกร้องจากฝ่ายไทยมากที่สุด

ทั้งนี้ ในกรอบการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับ "ยา" หัวข้อทรัพย์สินทางปัญญา มีสาระสำคัญอยู่ที่ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา "สอดคล้อง" กับระดับการคุ้มครองตามความตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) และ/หรือความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี การส่งเสริมการใช้ความยืดหยุ่น ข้อยกเว้น และข้อจำกัดในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างสมดุลระหว่างเจ้าของสิทธิ ผู้บริโภค และสาธารณชนโดยรวม รวมถึงเปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงยาในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม

โดยสิ่งที่เครือข่ายองค์กรภาคเอกชนเป็นห่วงก็คือ คำว่า "สอดคล้อง" ในกรอบการเจรจา อาจจะถูกผู้เจรจาขยายความตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ด้วยการยอมรับการคุ้มครองผลิตภัณฑ์ยาของสหภาพยุโรปเกินไปกว่าความตกลงขององค์การการค้าโลก (TRIPS Plus) ส่งผลต่อการเข้าถึงยาของประชาชนไทย และการต้องจ่ายค่ายาในราคาแพงมหาศาลเกินกว่าความจำเป็นติดต่อกันอย่างยาวนาน จากท่าทีของสหภาพยุโรปที่ปรากฏมาตลอดว่า จะใช้ความตกลง FTA ที่ทำกับประเทศคู่ค้าขยายระยะเวลาและสิทธิการผูกขาดเชิงพาณิชย์ (ยา) ที่มากกว่าความตกลง TRIPS พร้อมกับการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่ เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้บรรลุการขยายการผูกขาดตลาดยาผ่านมาตรการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้การขยายระยะเวลาการผูกขาดเชิงพาณิชย์ (Extension on Market Exclusivity), การจำกัดการใช้มาตรการยืดหยุ่น ภายใต้ความตกลง TRIPS (Increase Limitation on The Use of TRIPS Flexibilities), การขยายประเด็นที่สามารถจดสิทธิบัตร (Expanding on Patentability) และการเพิ่มความ เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและมาตรการ ผ่านแดน (IP Enforcement and Border Measures)

มาตรการผูกขาดข้างต้น สหภาพยุโรปได้ใช้ต่อรองกับประเทศที่เจรจาข้อตกลง FTA มาโดยตลอด หรือที่รู้จักกันในข้อเรียกร้องให้คุ้มครองข้อมูลทดลองยา ด้วยการให้อำนาจผูกขาดทางการตลาดแก่ เจ้าของข้อมูล (Data Exclusivity) หมายถึง การให้ ผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าของข้อมูลหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล ไม่สามารถนำข้อมูลของยาต้นแบบไปใช้ประโยชน์

ผลก็คือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนยาจะไม่สามารถใช้ข้อมูลทดลองของยาต้นแบบเพื่อการขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญได้ในระหว่างที่ข้อมูลยาดังกล่าวได้รับการคุ้มครอง ซึ่งมีผลทำให้การเข้าสู่ตลาดยาของยาสามัญที่มีราคาถูกกว่าต้องเลื่อนออกไป แม้ว่ายาต้นแบบนั้นจะไม่มีสิทธิบัตรคุ้มครองก็ตาม (สหภาพยุโรปเคยเสนอขอขยายระยะเวลาการคุ้มครองของสิทธิบัตรเป็นระยะเวลาเท่ากับช่วงเวลาระหว่างวันที่ยื่นขอสิทธิบัตร และวันที่ได้รับการอนุมัติวางตลาดหักลบด้วย 5 ปี)

และเพื่อลดความกังวลที่จะเกิดขึ้นจากการเจรจาเรื่องยาในหัวข้อทรัพย์สินทางปัญญา ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้เสนอให้ผู้เจรจา (ดร.โอฬาร ไชยประวัติ) ว่า ทางเลือกที่ดีที่สุดในการเจรจากับสหภาพยุโรปก็คือ การยืนยันและคงสถานะการปฏิบัติตามกรอบความตกลง TRIPS ในทุกเงื่อนไขสำหรับกรณีของยา ด้วยการไม่ยอมรับข้อเสนอในเรื่องของ TRIPS Plus  เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปโดยเด็ดขาด

มีข้อน่าสังเกตว่า ข้อเสนอข้างต้นมุ่งจำกัดสิ่งที่เรียกว่า "ความสอดคล้อง" ในระดับการคุ้มครองตามความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่ปรากฏอยู่ในกรอบการเจรจาของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศนั่นเอง

เจรจา 15 หัวข้อ

ภายใต้หลักการเจรจาเพื่อรักษาโอกาสทางการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรป รัฐบาลไทย จะวางกรอบการเจรจากับสหภาพยุโรปไว้ 15 เรื่อง ได้แก่ การค้าสินค้า, พิธีสารศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า, กฎว่าด้วยแหล่ง กำเนิดสินค้า, มาตรการเยียวยาทางการค้า, มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน, มาตรการ ปกป้องด้านดุลการชำระเงิน, มาตรการสุขอนามัยและ สุขอนามัยพืช, อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า, การค้าบริการ, การลงทุน, การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ, ทรัพย์สินทางปัญญา, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ, ความโปร่งใส, การแข่งขัน, การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน, ความร่วมมือทางวิชาการ และสร้างขีดความสามารถผู้ประกอบการ (SMEs) และเรื่องอื่น ๆ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 - 18 ก.ย. 2556