ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภญ.กาญจนา มหาพล เภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อุบลราชธานี นำเสนอผลการวิจัย เรื่อง "สถานการณ์การปนเปื้อนโลหะหนักในเกลือที่ผลิตจากดินจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2554-2555" ในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2556 ว่า พื้นที่ภาคอีสานมีการผลิตเกลือจากดิน เรียกว่า เกลือดิน นิยมนำมาทำปลาร้า ปลาส้ม ปลาแห้ง ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างเกลือดินที่ผลิต ในอำเภอเขื่องใน, เหล่าเสือโก้ก, ตระการพืชผล และอำเภอเมือง 20 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์หาโลหะหนัก 5 ชนิด คือ สารหนู ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และทองแดง ที่บริษัทองปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาขอนแก่น พบว่า ปนเปื้อนสารหนู 14 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 70 ตะกั่ว 12 ตัวอย่าง ร้อยละ 60 ปรอท 2 ตัวอย่าง ร้อยละ 10 ทองแดง 9 ตัวอย่าง ร้อยละ 45 แต่ไม่พบการปนเปื้อนแคดเมียม และไม่มีตัวอย่างใดที่ผ่านเกณฑ์โลหะหนักทั้ง 5 รายการ

ภญ.กาญจนากล่าวว่า จากการร่วมมือกับสำนักงานที่ดิน เขตที่ 4 สำรวจสภาพแวดล้อมพื้นที่ทำเกลือดินบ่อเบ็นนาเกลือทั้งดินและน้ำ พบว่า ดินมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก ซึ่งพื้นที่ใกล้เคียงกับบ่อเบ็น มีแหล่งรับซื้อของเก่า ทั้งนี้อันตรายหากเป็นสารหนูจะเป็นสารก่อมะเร็ง ตะกั่วพิษต่อระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร โลหิต ไต และทางเดินปัสสาวะ ส่วนปรอทพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เสียการควบคุมเคลื่อนไหวของแขน ขา การพูดและยังทำให้ระบบประสาทรับความรู้สึกเสียไป เช่น การได้ยิน การมองเห็น ส่วนแคดเมียม มีพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ไต กระดูกผิดรูป ขณะที่ทองแดง พิษต่อตับ ร่างกายสั่นเทาตลอดเวลา

"สสจ.ได้ออกคำแนะนำไม่ให้ประชาชนบริโภคเกลือดินแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการคิดหาแนวทางส่งเสริมให้นำเกลือดินไปใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่น เนื่องจากการผลิตเกลือจากดินเป็นวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีคุณค่า นำมาทำอาหารที่ใช้กันทุกครัวเรือนในภาคอีสาน สร้างรายได้ในพื้นที่ เฉพาะที่แหล่งผลิตเกลือดินที่บ่อเบ็นนาเกลือ อ.เขื่องใน รวม 1-2 ล้านบาท" ภญ.กาญจนากล่าว

--ข่าวสด ฉบับวันที่ 16 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--