ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ - ทลายคลินิกเถื่อนกลางกรุง สธ.สนธิกำลัง อย.-สบส.-ตำรวจหัวหมาก ยึดยาอันตรายและอุปกรณ์ทางการแพทย์หลายรายการ รวบ 2 ผู้ต้องหาฟัน 4 ข้อหาหนัก หลังมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแล้วเกิดอาการช็อกแพ้ยาอย่างรุนแรงจนอาการโคม่า "ที่ปรึกษารมว.สธ." แฉคลินิกแสบ ใช้ยุทธวิธีโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต กว่า 2 ปี คาดมีคนไข้ตกเป็นเหยื่อแล้วหลายพันคน ตะลึงมีคลินิกลักษณะดังกล่าว 50-60 แห่งกลางเมืองหลวง แนะประชาชนสงสัยรักษากับหมอปลอม สามารถตรวจสอบได้ที่ สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หัวหมาก ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมคลินิกเถื่อน นายพสิษฐ์ กล่าวว่า ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ในการเข้มงวดและตรวจสอบคลินิกและสถานพยาบาลที่ไม่มีแพทย์อยู่ประจำในเวลาทำการและสถานพยาบาลที่ไม่ได้รับอนุญาต เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนผู้บริโภคนั้น  เมื่อเร็ว ๆ นี้ สน.หัวหมาก ได้รับแจ้งความว่า มีคน ไข้มารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง  ด้วยอาการช็อกและแพ้ยาอย่างรุนแรงจนอาการ โคม่า ต้องรักษาตัวในห้องไอซียู โดยก่อนมา โรงพยาบาลคนไข้ได้ไปรับการรักษาที่คลินิกเถื่อนแห่งหนึ่งที่โฆษณาทางเว็บไซต์ www.earthclinic.com

นายพสิษฐ์ กล่าวต่อว่า หลังทราบเรื่อง อย. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หัวหมาก นำหมายค้นศาลอาญาที่ 454/2556 ลงวันที่ 8 ก.ย. เข้าทำการตรวจค้นบ้านเลขที่ 3313/7 ซอยรามคำแหง 83/2 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ พบผู้ต้องหา 2 ราย คือ นายปหัษฐิศร์ ณ พัทลุง และ น.ส.ณิชารีย์ ปรีชา สอบสวนผู้ต้องหารับสารภาพว่าได้เปิดบ้านรับรักษาผู้ป่วยจริง และ

เป็นผู้นำการตรวจค้น จากการตรวจสอบพบของกลางเป็นยาอันตรายหลายรายการ เครื่องปล่อยคลื่นวิทยุเพื่อแก้อาการปวดเมื่อย5 เครื่อง เครื่องฉายแสงอินฟราเรด 1 เครื่อง บัญชีข้อมูลรายละเอียดของผู้รับบริการ และนามบัตรโฆษณา เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางทั้งหมดส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีในข้อหาผลิตและขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบโรคศิลปะโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต

นายพสิษฐ์ กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย สบส. รายงานให้ทราบว่า เว็บไซต์ดังกล่าวเปิดมานานไม่ต่ำกว่า 2 ปี คาดว่าน่าจะมีการรักษาคนไข้ไปแล้วหลายพันคน ทั้งนี้จะมีการขยายผลว่ามีการส่งต่อคนไข้ไปรักษาที่อื่นหรือไม่ ส่วนคนไข้ที่เคยไปรักษากับคลินิกดังกล่าวให้ติดต่อไปที่ อย. หรือ สบส. ได้โดยตรง เพราะไม่รู้ว่าหลังการรักษาแล้วใครได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง รายงานของเจ้าหน้าที่ระบุว่า ในกรุงเทพมหานครมีคลินิกในลักษณะนี้ประมาณ 50-60 แห่ง นอกจากนี้บางแห่งยังใช้ป้ายปลอมอ้างว่าได้รับอนุญาตให้เปิดคลินิกทั้งที่ เป็นคลินิกเถื่อน ซึ่งจะมีการตรวจสอบและจับกุมต่อไป ส่วนกรณีผู้ต้องหามีนามสกุลดัง ยืนยันว่าไม่มีผลต่อการดำเนินการของเจ้าหน้าที่โดยจะยึดตามกฎหมายเป็นหลัก

ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า ขอเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อโฆษณาการรักษาโรคทางอินเทอร์เน็ต หรือควรตรวจสอบข้อมูลให้มั่นใจก่อนว่า สถานพยาบาลดังกล่าวได้รับอนุญาตถูกต้องและมีแพทย์เป็นผู้ให้การรักษาหรือไม่ ทั้งนี้ในกรณีที่เกิดความสงสัยว่าแพทย์ที่ไปรับการรักษาว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา โทรศัพท์ 0-2590-1888 ต่อ 310 และ 320 ได้ทุกวันในเวลาราชการ หรือสามารถตรวจสอบได้ที่ เว็บไซต์  www.tmc.or.th โดยเข้าไปในส่วนของบริการประชาชน โดยนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้สถานพยาบาลหรือคลินิกต่าง ๆ ติดรูปผู้ดำเนินการสถานพยาบาลไว้ที่บริเวณด้านหน้าคลินิกด้วย

ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการอย. กล่าวว่าหากผู้บริโภคพบเห็นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาโดยไม่ใช่ร้านขายยา หรือไม่ใช่สถานพยาบาล หรือโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค ขอให้ร้องเรียนไปยังสายด่วน อย. โทร.1556 หรืออีเมล 1556@fda.moph.go.th หรือส่งจดหมายไปที่ ตู้ ป.ณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี หรือเดินทางมาร้องเรียนด้วยตัวเองพร้อมตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ที่ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. อาคาร 1 ชั้น 1 ได้ทุกวันในเวลาราชการ เพื่อ อย. จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด และเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  วันที่ 17 กันยายน 2556