ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ - หนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัลจับกระแสความคืบหน้าในวงการอุตสาหกรรมยาสูบไทย กรณี ฟิลลิป มอร์ริส และบริษัทพันธมิตรอีกสองแห่งยื่นขอต่อศาลปกครองกรุงเทพฯ ให้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการบังคับขยายขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็น 82.5% ของขนาดซองว่า ล่าสุดนั้น นพพร ชื่นกลิ่นรองอธิบดีกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขไทย ยื่นอุทธรณ์ศาลให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่าระเบียบบังคับนี้ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทยาสูบอย่างแน่นอน

ในทางตรงข้าม สื่อชื่อดังอ้างแถลงการณ์ของ ฟิลลิป มอร์ริส ที่ออกมาแย้งว่าระเบียบนี้อยู่นอกเหนืออำนาจของกระทรวงสาธารณสุขพร้อมยกผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่ระบุว่ารายได้ของอุตสาหกรรมยาสูบในไทยคิดเป็น0.52% ของผลผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(จีดีพี) ซึ่งเกือบเท่ากับรายจ่ายที่รัฐต้องใช้เพื่อรักษาผู้ติดบุหรี่คิดเป็น 0.5% ของจีดีพี

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ชื่อดังในสหรัฐรายงานเชิงวิเคราะห์ต่อไปว่า การที่ ฟิลลิป มอร์ริสบริษัทยาสูบยักษ์ใหญ่เดินหน้าสู้คดีกับทางการไทย เป็นการสะท้อนให้เห็นแนวโน้มว่ารัฐบาลของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มเอาจริงกับการรณรงค์ให้ประชาชนสูบบุหรี่น้อยลง พร้อมยกบทสัมภาษณ์ของบังอร ฤทธิ์ภักดี ผู้อำนวยการเครือข่ายรณรงค์และควบคุมการสูบบุหรี่ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ระบุว่า ในปี 2011 คนไทยสูบบุหรี่กว่า 11.5 ล้านคน หรือคิดเป็น18% ของประชากรทั้งหมดและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"บริษัทยาสูบยักษ์ใหญ่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องเตรียมพร้อมรับมือรัฐบาลต่างชาติที่จะลอกเลียนแบบนโยบายของประเทศไทยไปใช้ เพราะเราเชื่อว่าหากมาตรการเพิ่มขนาดภาพคำเตือนได้ผล ก็จะส่งผลกระทบต่อยอดขายบุหรี่อย่างหนักตามมา" บังอร กล่าว

ด้านนิตยสารอิระวดี รายงานข่าวความเป็นอยู่ของเยาวชนพม่าในประเทศไทยว่า ผู้ใช้แรงงานชาวพม่าและตัวแทนพระสงฆ์ไทยร่วมมือกันจัดตั้งโรงเรียนระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาในวัดแห่งหนึ่งย่าน ต.มหาชัย จ.สมุทรสงครามโดยเปิดการเรียนการสอนเป็นภาษาพม่าเพื่อรองรับบุตรหลานของแรงงานที่หลั่งไหลเข้าประเทศไทย คิดค่าลงทะเบียนเรียนเพียง 500 บาทต่อคน ทั้งนี้ กิจกรรมการเรียนการสอนและการบริหารโรงเรียนทั้งหมดดำเนินการโดยอาสาสมัครและอาจารย์ที่ได้รับค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย

นิตยสารข่าวดังระบุต่อไปว่า แม้รัฐบาลไทยจะกำหนดให้การศึกษาภาคบังคับแก่เยาวชนทุกคนโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและฐานะ แต่ในความเป็นจริง มีเยาวชนพม่าเพียง 2 แสนคนที่มีโอกาสศึกษาในโรงเรียนไทยเนื่องจากอุปสรรคเรื่องภาษาและฐานะทางการเงินการจัดตั้งโรงเรียนที่ทำการเรียนการสอนเป็นภาษาพม่าถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานชาวพม่าในประเทศไทย

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 18 กันยายน 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง