ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคเอกชนชี้ถึงเวลา "ปฏิรูปภาษียาสูบ" ชูระบบภาษีผสมทั้งตามปริมาณและมูลค่า เป็นเครื่องมือสร้างความโปร่งใสรับเออีซี เผยรัฐสูญเสียรายได้ 8 พันล้านหลังปรับเพิ่มภาษียาสูบ 2 ปี เหตุไม่ตอบโจทย์ แถมคนหันไปสูบบุหรี่ราคาถูก" ด้านอธิบดีกรมสรรพสามิต ยันไม่มีนโยบาย แต่ศึกษาเตรียมความพร้อมเท่านั้น

นางมัลลิกา ภูมิวาร กรรมการผู้จัดการศุลกากรและการค้า บริษัท ไบรอัน เคฟอินเตอร์เนชั่นแนล คอนซัลติ้ง (กรุงเทพประเทศไทย) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่กระทรวงการคลังจะปรับปรุงภาษีสรรพสามิตยาสูบได้ทันที ในรูปแบบภาษีระบบผสมใช้ทั้งภาษีตามปริมาณและภาษีตามมูลค่า โดยใช้ราคาขายปลีกเป็นฐานภาษี ซึ่งรูปแบบดังกล่าวมีการใช้ในประเทศสมาชิก 27 ประเทศ ของยุโรป (โดยใช้ราคาขายปลีกเป็นฐานในการคำนวณภาษีตามมูลค่า และใช้จำนวนเป็นฐานภาษีตามปริมาณ ) เช่น รัสเซียและเม็กซิโก

ทั้งนี้ การกำหนดมูลค่าของภาษีจะต้องกำหนดเพื่อดูแบบบุหรี่ที่ผลิตในประเทศให้เท่าเทียมกับบุหรี่นำเข้า โดยยอมรับว่า การกำหนดมูลค่าของภาษียังเป็นข้อจำกัดที่กรมสรรพสามิตต้องหารือกับทุกฝ่าย ซึ่งประมาณเดือนหน้า บริษัทจะหารือกับกระทรวงการคลัง กรมสรรพสามิต และโรงงานยาสูบ เพื่อชี้แจงถึงความจำเป็นในการปฏิรูปภาษีดังกล่าว อย่างไรก็ตามข้อดีของโครงสร้างภาษีแบบผสมคือ ทำให้รัฐมีเครื่องมือเพิ่มขึ้น เพื่อตัวเลือกและความยืดหยุ่นของนโยบาย ขณะเดียวกันองค์ประกอบตามปริมาณช่วยทำให้รายได้ภาษีคงที่มากขึ้นและประมาณการได้ง่ายขึ้น จากการลดผลกระทบจากการตั้งราคาสินค้าของผู้ประกอบการ และองค์ประกอบตามมูลค่า ช่วยปรับมูลค่าภาษีตามค่าเงินเฟ้อ อีกทั้งลดช่องว่างของราคา ทำให้ปัจจัยที่ส่งเสริม down trading ลดลง สอดคล้องกับนโยบายด้านสาธารณสุข

"การเพิ่มภาษี 2 ครั้งในปี 2552 และ2555 ทำให้เกิดความแตกต่างด้านราคาเพิ่มขึ้นนอกจากคนหันไปบริโภคสินค้าราคาถูกแทนผลจากการdown trading ทำให้การจัดเก็บภาษีบุหรี่ที่ควรจะเก็บได้ในปี55 หายไปประมาณ 8 พันล้านบาท หรืออยู่ที่ 48.8 พันล้านบาทจากคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 56.7พันล้านบาท"

ต่อประเด็นดังกล่าว นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การปฏิรูปภาษีสรรพสามิต ลำดับถัดไปนั้นขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบายเป็นผู้ตัดสินใจ ขณะนี้ยังไม่มีนโยบาย อย่างไรก็ตามในส่วนของกรมสรรพสามิตเตรียมการศึกษาการปฏิรูปภาษีต่างๆเพื่อเตรียมพร้อมไว้แล้ว โดยภาษีสรรพสามิตยาสูบมีการนำโมเดลของอาเซียนและยุโรปมาศึกษาด้วย แต่ในแง่ของการจัดเก็บรายได้นั้น ยืนยันว่าไม่ใช่ปัญหา ซึ่งในปีงบประมาณ 2557 ยังตั้งเป้าประมาณการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 4.6 แสนล้านบาทจากปีนี้จัดเก็บเกินเป้าประมาณ 2 หมื่นล้านบาทจากที่กำหนดไว้ 4.12 แสนล้านบาท

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,881 วันที่ 22 - 25 กันยายน พ.ศ. 2556