ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข่าวสด - ภก.กาญจนา มหาพล เภสัชกร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อุบลราชธานี เปิดเผยว่า จากการทำวิจัยและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเกลือบริโภค ในปี 2554 พบปัญหาการปนเปื้อนของสารอื่นๆ ในเกลือ จึงได้เตรียมเสนอข้อมูลไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ออกเกณฑ์กำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน นอกเหนือจากเกณฑ์ที่ให้เกลือต้องมีปริมาณไอโอดีนไม่น้อยกว่า 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

การเพิ่มเติมเกณฑ์จะต้องเน้นมาตรฐานสารโลหะหนัก เช่น สารหนู ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม และทองแดง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลโคเด็กซ์ และตามประกาศ สธ. ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนและมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.เกลือบริโภค) โดยเลือกค่าต่ำสุดเป็นเกณฑ์ คือ สารหนู ใช้เกณฑ์ มอก. 0.50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม(mg/kg) ตะกั่วใช้เกณฑ์ สธ.1.00 mg/kg ปรอท เกณฑ์ สธ. 0.02 mg/kg แคดเมียม เกณฑ์ มอก.0.50 mg/kg และทองแดง เกณฑ์ มอก. 2.00 mg/kg

ภก.กาญจนากล่าวต่อว่า เกณฑ์นี้บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งหากมีการออกกฎหมายควบคุมการปนเปื้อนโลหะหนัก จะทำให้คุณภาพมาตรฐานเกลือรัดกุมขึ้น นำไปสู่การให้มีเลขสารบบอาหารได้ เช่น กรณีน้ำบริโภค อย.มีการกำหนดคุณภาพมาตรฐานและน้ำว่าต้องมีมาตรฐานด้านเคมี กายภาพ จุลินทรีย์ อย่างไรบ้าง เกลือก็อาจใช้หลักเกณฑ์ที่คล้ายๆ กันว่า นอกจากเรื่องไอโอดีน ควรคุมปริมาณจุลินทรีย์ สารโลหะหนักอย่างไรบ้าง เพื่อปรับปรุงมาตรฐานเพราะพบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อันตรายของโลหะหนัก หากเป็นสารหนูเป็นสารก่อมะเร็ง ตะกั่วพิษต่อระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ระบบโลหิต ระบบไตและทางเดินปัสสาวะ ส่วนปรอทพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง เป็นต้น เช่น การได้ยิน การมองเห็น ส่วนแคดเมียม มีพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ไต กระดูกผิดรูป ขณะที่ทองแดง พิษต่อตับ ร่างกายสั่นเทาตลอดเวลากล้ามเนื้อไม่แข็งแรง

ที่มา--ข่าวสด ฉบับวันที่ 25 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--