ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนังสือพิมพ์คมชัดลึก - น.ส.นงลักษณ์ พะไกยะ ผู้จัดการสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เข้ารับบริการฉุกเฉิน 12 ล้านครั้งต่อปี เป็นผู้ป่วยวิกฤติที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน ร้อยละ 30 มีเพียงร้อยละ 5-8 เท่านั้นที่นำส่งโดยระบบฉุกเฉิน ที่เกิดจากภาวะโรคอย่างอาการช็อก มีเพียงร้อยละ 30 ที่เกิดจากอุบัติเหตุ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งผลวิจัยพบว่า มีแพทย์ในระบบการแพทย์ฉุกเฉินประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน จำนวน 306 คน พยาบาล 15,049 คน เจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน ซึ่งเป็นผู้ที่ประจำหน่วยเคลื่อนที่เร็ว 873 คน กลุ่มอาสาสมัครที่ผ่านการอบรม 3,849 คน และกลุ่มอาสาสมัครที่เป็นชาวบ้านและเจ้าหน้าที่มูลนิธิ 101,690 คน

"หน่วยฉุกเฉินทำงานหนักมาก พบว่า แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินทำงานเฉลี่ย 300 ชั่วโมงต่อเดือน มากกว่าคนทำงานในเวลาปกติซึ่งอยู่ที่ 176 ชั่วโมง หรือมากกว่า 1.7 เท่า เมื่อดูในรายละเอียดของการปฏิบัติงานเฉพาะในส่วนของแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินซึ่งปัจจุบันมีเพียง 306 คน แต่ต้องการ 1,252 คน ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตได้เพียงปีละ 80 คน นั่นหมายความว่า เฉพาะแค่การดูแลผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน 2 กลุ่ม จะต้องใช้เวลาในการผลิตเพิ่ม 3-4 ปี ซึ่งการให้เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วยทั้ง 4 กลุ่ม คงไม่ต้องพูดถึง และต้องการพยาบาลเพิ่ม 4,324 คน แทนลาออก" น.ส.นงลักษณ์กล่าว

น.ส.นงลักษณ์ กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรระบบฉุกเฉินในกลุ่มที่เป็นหน่วยเคลื่อนที่นั้น ที่ผ่านมามีการดึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)และอาสาสมัครเข้าร่วม รวมไปถึงมูลนิธิต่างๆ เพื่อทำงานเป็นหน่วยฉุกเฉินเคลื่อนที่ในการนำส่งผู้ป่วย ซึ่งการพัฒนาระบบเริ่มจาก สปสช.ที่พัฒนาเรื่องนี้ด้วยการให้งบประมาณแก่ท้องถิ่นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดระบบหน่วยฉุกเฉินนี้ และต่อมาได้โอนถ่ายภารกิจให้แก่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ซึ่งได้ทำการพัฒนาระบบต่อ แต่ยังมีปัญหางบประมาณสนับสนุน และการดูแลบุคลากร ซึ่งทาง สพฉ.พยายามขอตำแหน่งเจ้าหน้าที่เวชกิจให้แก่อาสาสมัครเหล่านี้โดยให้ขึ้นกับ อบต. ชึ่งจะทำให้คนเหล่านี้มีรายได้และสร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบฉุกเฉิน เพราะเป็นหน่วยที่เข้ามาช่วยเสริมได้ดี--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  วันที่ 24 กันยายน 2556