ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บุคคลที่มีส่วนสำคัญในการสร้างระบบการรับรองโรงพยาบาลจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ก่อประโยชน์ให้แก่ทั้งผู้ให้บริการและประชาชนผู้รับบริการในประเทศไทยได้อย่างมากมาย สมควรจารึกชื่อไว้คือ นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล

นพ.อนุวัฒน์ จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนครั้งแรกที่โรงพยาบาลเวียงสา จ.น่าน ต่อมาได้ศึกษาต่อเป็นผู้เชี่ยวชาญทางศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ และไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี นพ.อนุวัฒน์ สนใจงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข โดยศึกษาจากตำราเล่มโตที่ นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร นำไปมอบให้ และได้นำความรู้ไปใช้งานโดยการไปร่วมเตรียมระบบประกันสังคมกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ คือ อะวิวา รอน (Aviva Ron) และ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ต่อมาได้เข้าไปช่วยงานโครงการบัตรสุขภาพที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ดูแลอยู่และได้ทุนจีทีแซด (GTZ) ไปศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ที่วิทยาลัยเวชศาสตร์เขตร้อน และสาธารณสุขมหาวิทยาลัยลอนดอน จนได้ปริญญาโทกลับมาได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานของประกันสังคมโดยเป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการด้านข้อมูลข่าวสาร

จุดเริ่มต้นสำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลคือการได้พบกับ ดร.ไก โรแลนด์ (Dr.Kai Roland) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาคุณภาพจากออสเตรเลีย ดร.ไกเป็นลูกศิษย์ของ ดร. เดมิง มีประสบการณ์และเขียนตำราไว้มากมาย ในการไปศึกษาดูงานที่ออสเตรเลียครั้งหนึ่ง นพ.อนุวัฒน์ ได้คู่มือและตำราราว 20 เล่ม จาก ดร.ไก นำกลับมาศึกษาอย่างเอาจริงเอาจัง และได้เริ่มโครงการนำร่องในโรงพยาบาล 8 แห่ง ได้แก่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลสมุทรปราการ โรงพยาบาลสมุทรสาครโรงพยาบาลบ้านหมี่ โรงพยาบาลโคกสำโรงเป็นต้น โดยเชิญ ดร.ไก มาเป็นวิทยากรหลักด้วย

แม้จะได้ทุ่มเทศึกษาอย่างเป็นระบบ ได้วิทยากรมือดีที่รู้จริงมาทำงานให้ แต่งานก็ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ปัญหาสำคัญ คือ วิธีการดังกล่าวไม่สามารถตอบโจทย์ของโรงพยาบาลในการแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพบริการได้อย่างแท้จริง

จนกระทั่งได้พบกับบุคลลสำคัญอีกคนหนึ่งคือ ดร.โทนี่ เวจเมคเกอร์ (Dr.Tony Wagemakers) จากแคนาดา ดร.โทนี่ เริ่มชีวิตการทำงานจากการเป็นพนักงานเปลในโรงพยาบาล ได้ศึกษาและพัฒนาตนเองจนได้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลรุ่นแรกๆ ที่มิใช่แพทย์ และประสบความสำเร็จอย่างมากในการบริหารและพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลปรัชญาสำคัญที่ ดร.โทนี่ "พลิก" ความคิดเรื่องการพัฒนาและรับรองโรงพยาบาล คือ ระบบรับรองคุณภาพโรงพยาบาลต้องไม่มุ่งเน้นเรื่องการตรวจสอบ แต่ต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนในองค์กร

นพ.อนุวัฒน์ ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่แคนาดา โดยการสนับสนุนจากผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลภูมิภาคขณะนั้น คือ พญ.มาลินีสุขเวชชวรกิจ ซึ่งต่อมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาและรองผู้ว่าฯ กทม. ฝ่ายสาธารณสุข ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่บ่มเพาะ ทำให้ในที่สุดก็สามารถพัฒนาระบบการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลจนเป็นรูปธรรม เมื่อนำเสนอต่อ "ผู้ใหญ่" ในวงการสาธารณสุข ทุกคนพากันตื่นเต้นและต่างช่วยหาทางสนับสนุนเช่น นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์ อดีตปลัดกระทรวงและ รมว.สาธารณสุข แนะนำให้ตั้งเป็นสถาบันลูก ในเครือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยหรือ สกว. แนะนำให้ไปเชิญ "ผู้มีบารมี" ที่แท้จริงที่จะช่วยให้งานยากๆ เช่นนี้สำเร็จได้ คือศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา มาเป็นประธานสถาบัน ซึ่ง ศ.นพ.จรัส ก็รับด้วยความยินดีและได้เข้ามาช่วยผลักดันจนทำให้งานดำเนินมาได้ด้วยดี แน่นอน ศ.นพ.ประเวศ วะสี ก็ให้คำแนะนำและสนับสนุนทั้งเรื่องแนวคิดและแหล่งทุน ในที่สุดงานนี้ก็เริ่มต้นขึ้นได้ โดยทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งจาก สกว. และส่วนหนึ่งจาก สวรส.

เริ่มต้นจากทีมงานที่มีกันเพียง 2 คน คือ นพ.อนุวัฒน์ และลูกน้องเพียงคนเดียวงานได้ลงรากปักฐานและเจริญก้าวหน้า จนสามารถ "โบยบิน" (Spin Off) จาก สวรส.เป็นองค์การมหาชนตามพระราชกฤษฎีกา ที่ออกตาม พ.ร.บ.องค์การมหาชน เมื่อปี2552 เป็น "สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล" หรือ สรพ.

ปัจจุบัน สรพ.ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ทุกปีที่สรพ.จัดประชุมวิชาการ จะมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทั่วประเทศ ราว 6,000-7,000 คนสมัครเข้ามาร่วมประชุม โดยแต่ละโรงพยาบาลจะยกทีมกันมา มีการวางแผนล่วงหน้าว่าใครจะฟังห้องไหน และถ่ายภาพการนำเสนอที่เป็นโปสเตอร์นำกลับไปใช้ประโยชน์กันอย่างเต็มที่หลายทีมมีการประชุม "ทบทวนหลังปฏิบัติงาน"(After Action Review หรือ AAR) เพื่อให้เพื่อนร่วมทีมได้ประโยชน์อย่างเต็มที่เป็นการประชุมที่ได้ประโยชน์คุ้มค่าอย่างยิ่ง แตกต่างจากการประชุมของหน่วยงานราชการโดยมากที่มีผู้เข้าประชุมมากเฉพาะวันแรก วันต่อๆ ไป "โหรงเหรง" และสิ่งที่ได้กลับไปไม่ใช่ความรู้ แต่คื สิ่งของที่นำไปขายกันมากมายหน้าห้องประชุม

นอกจากการประชุมวิชาการประจำปี นพ.อนุวัฒน์ ได้เขียนบทความเรื่องนี้เผยแพร่เป็นประจำในวารสาร Medical Times และQuality Care จนรวบรวมเป็นเล่มในชื่อ"หวือหวา" ว่า "เลื่อนไหลเลียบเลาะ เจาะลึก"ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะได้รวบรวมทั้งปรัชญาแนวคิด วิธีการ ในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลไว้อย่างลุ่มลึกแต่เรียบง่าย จากคนรู้จริงและจากประสบการณ์จริง

แน่นอนว่า "ทางไปสู่เกียรติศักดิ์ จักประดับด้วยดอกไม้ หอมหวนยวนจิตไซร้ ไป่มี" ตลอดเส้นทางการทำงาน สรพ.ประสบอุปสรรคขวากหนามมากมาย บางปีงบประมาณถูกผู้บริหารระดับรองปลัดกระทรวง "เบี้ยว" เอาไปใช้ในงานอื่นดื้อๆและชื่อสถาบันตามกฎหมายก็ต้องตัดเรื่องการ"พัฒนาคุณภาพ" ออก เพื่อไม่ให้มีปัญหากับบางหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขที่แท้จริงแล้วแทบไม่มีบทบาทในเรื่องการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลแต่อย่างใด

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 24 กันยายน 2556