ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สยามธุรกิจ - มอ. หนุนภูมิปัญญาไทย เปิดตัวสถานผลิตยาแผนโบราณมาตรฐาน GMP แห่งแรกในภาคใต้ กำลังผลิต 25,000 เม็ดต่อสัปดาห์ เน้นใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อสร้างอาชีพชุมชน ผลิตยาสมุนไพรบริการป้อนโรงพยาบาลรัฐและร้านขายยาเอกชน เล็งอนาคตเพิ่มกำลังการผลิตหากได้รับการตอบรับที่ดี

แม้ประเทศไทยจะมีสมุนไพรอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยาสมุนไพรจะต้องผลิตจากโรงงานที่มีคุณภาพ มีกระบวนการผลิต มีวัตถุดิบที่มีคุณภาพ รวมทั้งมีงานวิจัยต่างๆที่จะมาช่วยสนับสนุนให้เห็นถึงประโยชน์ของสมุนไพร สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่แพทย์ผู้รักษาและผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมและผลักดันให้มีการใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น อย่างไรก็ตามการจะพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมสมุนไพรให้ไปสู่มาตรฐานสากลนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและเป็นงานที่ค่อนข้างหนักพอสมควร เนื่องจากต้องมีการตรวจวัดในหลายขั้นตอน ทำให้มีต้นทุนค่อนข้างสูงมาก ประกอบกับในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โรงงานผลิตยาในภาคเอกชนหลายๆแห่ง ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านคุณภาพของยา โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานใหม่ของ GMP ที่เรียกว่า PIC/S ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ยอมรับกันทั่วโลก ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นมาใหม่ ส่วนโรงงานเก่าหรือโรงงานขนาดเล็ก รวมทั้งโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตยาเข้าสู่ระบบกระทรวงสาธารณสุขยังคงจะต้องได้รับการผลักดันให้กลายเป็นสถานที่ผลิตยาที่ได้รับมาตรฐานเพื่อนำไปสู่การผลิตยาที่มีคุณภาพ

ผศ.ดร.สิริรัศมิ์ ปิ่นสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) (Assist. Prof.Sirirat Pinsuwan, Dean, Faculty of Pharmaceuti-cal Sciences, Prince of Songkla University) เปิดเผยว่า ด้วย ความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ และเพิ่มมูลค่าให้สมุนไพรไทย คณะเภสัชศาสตร์ มอ.จึงได้พัฒนาห้องปฏิบัติการของคณะให้เป็นสถานผลิตยาแผนโบราณ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP หรือมาตรฐาน การผลิตที่ดีเป็นแห่งแรกในภาคใต้ โดยได้เลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตยาที่เป็นสมุนไพรในท้องถิ่นนำมาพัฒนาเป็นยาแผนโบราณ ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพให้แก่คนในท้องถิ่นและได้ยาสมุนไพรที่มีคุณภาพ

"สถานผลิตยาแผนโบราณที่พัฒนามาจากห้องปฏิบัติการของคณะนี้ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP หรือมาตรฐานการผลิตที่ดีเป็นแห่งแรกในภาคใต้ โดยใช้วัตถุดิบซึ่งมีในท้องถิ่นเพื่อสร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น และเพื่อให้ได้ยาสมุนไพรที่มีคุณภาพและมุ่งเป็นแกนหลักในการพัฒนายาสมุนไพรให้กับภาคใต้ โดยได้รับความร่วมมือกับโรงพยาบาลในเครือข่าย 14 จังหวัดภาคใต้ และมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ภก.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกร ผู้อุทิศตนช่วยเหลือผู้ป่วยในการผลิตยาใน ทวีปแอฟริกาและเอเชียเป็นที่ปรึกษาโครงการ"

ทั้งนี้ ปัจจุบันยาแผนโบราณหลายชนิดได้รับการรับรองความปลอดภัยในการนำมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ดีเช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน แม้ยาจะออกฤทธิ์ช้า แต่มีผลข้างเคียงน้อย จึงได้รับการรับรองความปลอดภัยจากการใช้ยาแผนโบราณในการรักษาโรค โดยยาแผนโบราณที่ใช้เพื่อรักษาอาการ เช่น ยารักษาริดสีดวงทวาร ยาแก้ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น

"สิ่งหนึ่งที่คณะเภสัชศาสตร์ มอ.พยายามทำก็คือ การพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องของสมุนไพร นำมาใช้ต่อยอดไปสู่ภาคปฏิบัติจริง ดังนั้น สถานผลิตยาแผนโบราณแห่งนี้ จึงเป็นจุดเชื่อมต่อของการนำงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างแท้จริง"

คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มอ.กล่าวทิ้งท้ายว่า "สำหรับวัตถุประสงค์ของการเปิดโรงงานยาแผนไทยมาตรฐาน GMP นั้นเราจะมุ่งเน้นการเรียนการสอนและการวิจัย และมุ่งเน้นการให้ความสำคัญของภูมิปัญญาไทย หรือสมุนไพรเพื่ออนุรักษ์และเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรไทย"

ด้าน ร.ศ.ดร.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะเภสัชศาสตร์ มอ. กล่าวว่า "ถ้าเปรียบกับยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพรหลายชนิดได้รับการรับรองว่ามีความปลอดภัยสามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้ เช่น ยารักษาริดสีดวงทวาร ยาแก้ปวดกล้ามเนื้อคนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่ายาแผนปัจจุบันใช้แล้วเห็นผลเร็ว แต่หากใช้โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จะเกิดอันตรายจากผลข้างเคียงยาสมุนไพรแม้ออกฤทธิ์ช้าแต่ผลข้างเคียงจะน้อยกว่าและปลอดภัยกว่า"

"แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ยารักษาโรคที่เกินความจำเป็นต้องระมัดระวังผลต่อตับและไต ซึ่งเภสัชกรต้องให้ความรู้ด้านนี้กับผู้ป่วย สถานผลิตยาแผนโบราณของคณะเภสัชศาสตร์เป็นสถานผลิตยาที่มีความพร้อมที่สุดในภาคใต้สำหรับการดูงานของหน่วยงานสาธารณสุข และเป็นแหล่ง เรียนรู้ผู้ประกอบการอื่นๆ มีกำลังผลิตยา 25,000 หมื่นเม็ดต่อสัปดาห์ โดยในระยะแรกของการผลิตได้จำหน่ายที่ร้านขายยาของคณะ และต่อมาได้ให้บริการแก่โรงพยาบาลที่ใช้ยาสมุนไพรในการรักษาในภาคใต้ และภาคตะวันออก โดยในอนาคตจะขยายตลาดโดยใช้ศิษย์เก่าของคณะซึ่งมีร้านขายยาเป็นผู้ช่วยด้านการตลาด และหากความต้องการมากขึ้นจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มบุคลากรประจำสถานผลิตยาดังกล่าวต่อไป"

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 - 27 ก.ย. 2556--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง