ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -การเข้ามาทำงานของแรงงานข้ามชาติในไทยจะมีระยะเวลาเต็มที่ไม่เกิน 4 ปี (ต่อวีซ่าเพื่อทำงานได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี) เมื่อครบ 4 ปีแล้วจะต้องเดินทางออกนอกประเทศภายใน 7 วัน ซึ่งเร็วๆนี้สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เครือข่ายเพื่อแรงงานข้ามชาติ (MWRN.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ได้ออกออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดความชัดเจน ในประเด็นที่ว่าเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาทำงานแล้ว แรงงานเหล่านี้จะต้องรอเวลาอีกนานเท่าใดกันแน่ถึงจะสามารถกลับเข้ามาทำงานได้อีกครั้ง

ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติกว่า 3 ล้านคนทำงานอยู่ในประเทศไทย ในจำนวนนี้กว่า 80% เป็นแรงงานสัญชาติพม่า ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนมากทำงานประเภทที่คนไทยปฏิเสธทำ รวมถึงงานประเภทงานอันตราย หากครบ 4 ปี แล้วต้องเว้นช่วงเป็นเวลานานกว่าจะกลับมาใหม่ได้ แน่นอนว่าต้องกระทบกับความต่อเนื่องในการผลิตของนายจ้าง

ขณะที่ข้อตกลง MOU ปี 2546 ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า แรงงานพม่าที่อยู่ในไทยครบ 4 ปี จะต้องเดินทางกลับไปพม่า 3 ปีเสียก่อน ถึงจะกลับเข้ามาทำงานใหม่ในประเทศไทยได้

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ ซึ่งเร็วๆนี้ กระทรวงแรงงานมีข้อตกลงในการแก้ไข MOU ใหม่ โดยแก้ไขข้อความเป็น "แรงงานที่จะรับจ้างซ้ำได้ต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักรและเดินทางกลับเข้ามา"

เดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน ระบุว่า แนวปฏิบัติหลังจากนี้แรงงานพม่าเมื่อออกนอกประเทศไปแค่ 1 วันก็สามารถกลับเข้ามาทำงานในไทยอีก ขอแค่ให้มีการตรวจลงตราว่าได้ออกนอกประเทศไปแล้ว

"เหตุผลที่ให้อยู่ได้ไม่เกิน 4 ปี เพราะถ้าอยู่ถึง 5 ปี จะสามารถยื่นขอเป็นผู้มีถิ่นพำนักอาศัยในประเทศไทยได้ ดังนั้นเมื่อทำงานครบ 4 ปี แล้วมีการลงตราหนังสือเดินทางว่าได้ออกไปแล้ว ก็จะหมดสิทธิขอมีถิ่นพำนักอาศัยในไทย ไม่ว่าจะออกไป 1 วัน 1 เดือน หรือ 3 ปีก็มีค่าเท่ากัน"เดชา กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กล่าวด้วยว่า ระยะเวลา 3 ปีตาม MOU เดิม ถือว่าไม่สมเหตุสมผล ที่ผ่านมามีการปรับแนวปฏิบัติเป็น 1 เดือน แต่ก็ยังนานอยู่ดี เพราะเมื่อลงตราออกนอกประเทศไปแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องรอไปถึง 1 เดือน เอกชนเสียกำลังผลิตไปเปล่าๆ

"ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอมาจากสภาความมั่นคงแห่งชาติเอง เพราะแรงงานที่ทำงานได้ถึง 4 ปี ถือว่าเป็นแรงงานที่มีค่า มีทักษะฝีมือ ถ้ารอให้เว้นช่วง 1 เดือน ตัวแรงงานเองก็ขาดรายได้และกระทบกับการผลิตของนายจ้างแน่นอน แต่หากย่นระยะเวลาเป็น 1 วัน นายจ้างก็สามารถวางแผนไม่ให้กระทบการผลิตได้ เช่น ค่อยๆทยอยนำแรงงานไปตรวจลงตราออก แล้วรับกลับมาทำงานใหม่ ขณะที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้เช่นกัน"เดชา กล่าว

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ให้ข้อมูลว่าแรงงานพม่าจะเริ่มทยอยทำงานครบ 4 ปี ประมาณ 5-6 แสนคนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยแรงงานชุดแรกที่จะครบ 4 ปีมีประมาณ 1 หมื่นคน ซึ่งหลังจากนี้ MOU จะมีผลทันทีโดยไม่ต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภาแต่อย่างใด

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ให้ความเห็นว่า แม้ประเด็นเรื่องระยะเวลาในการกลับเข้ามาทำงานของแรงงานพม่าจะเริ่มชัดเจน แต่ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายของตัวแรงงานนั่นเอง

บุษยรัตน์ ขยายความว่ายังมีแรงงานจำนวนมากที่ตลอด 4 ปี จะอาศัยและเดินทางเฉพาะบริเวณที่ทำงาน ไม่คุ้นเคยกับการเดินทางในประเทศ หรือเดินทางไปจังหวัดชายแดน ดังนั้นจะเป็นโอกาสของขบวนการนายหน้า ที่เข้ามามีบทบาทในการจัดการรับส่งแรงงานเหล่านี้เดินทางไปจุดผ่านแดน ช่วยดำเนินการจัดทำวีซ่า ตรวจสุขภาพ ฯลฯ

"ทุกขั้นตอนเป็นค่าใช้จ่ายที่แรงงานพม่าต้องแบกรับ อาจจะรายละ 10,000 บาทก็ได้ ซึ่งเท่ากับเงินเดือนถึง 1 เดือนเลยทีเดียว หรือหากนายจ้างออกให้ สุดท้ายก็มาหักคืนจากเงินเดือนอยู่ดี"

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เช่นนี้ยังไม่เกิดขึ้นเพราะแรงงานพม่าชุดแรกที่ทำงานครบ 4 ปี จะอยู่ในช่วงเดือน ม.ค. 2557 ดังนั้นต้องรอดูต่อไปว่าจะมีการเอาเปรียบหรือคิดค่าใช้จ่ายแพงๆจากแรงงานกลุ่มนี้มากน้อยแค่ไหน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง