ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดลินิวส์ - เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ป่วยเอดส์จำเป็น ต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิผลสูงสุด และจะต้องกินยาอย่างถูกต้อง ครบถ้วน สม่ำเสมอไปตลอดชีวิต เพื่อกดให้เชื้อไวรัสในร่างกายคงอยู่ในระดับต่ำไปยาวนานที่สุด เพื่อให้ผู้ติดเชื้อมีชีวิตที่ยืน ยาวขึ้น แต่ที่ผ่านมาก็ยังมีปัญหาที่ตามมาจากการรักษาด้วยยาต้านไวรัสและเป็นอุปสรรคต่อการดูแลรักษานั่นก็คือ "เชื้อเอชไอวีดื้อต่อยาต้านไวรัส" ซึ่งก็อาจมาจากผู้ป่วยละเลยคำสั่งแพทย์กินยาไม่ถูกต้อง ครบถ้วน ลืมกินยา หรือกินยาไม่สม่ำเสมอ ทำให้ภูมิต้านทานของผู้ป่วยไม่เพิ่มขึ้น เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาในสูตรที่มีราคาแพงขึ้นกว่าเดิมมาก หรือบางครั้งอาจจะไม่มีสูตรยาที่สามารถรักษาได้ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาไปสู่ผู้อื่น ทำให้ผู้ติดเชื้อเอดส์ชนิดเชื้อดื้อยา จะไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาสูตรพื้นฐาน จะต้องเริ่มรักษาด้วยยาราคาแพงมากขึ้น

ทางออกของปัญหาจึงต้องทราบให้ได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะดื้อต่อยาต้านไวรัสแบบไหน เพื่อที่แพทย์จะได้หาทางดูแลรักษาผู้ติดเชื้อได้อย่างเหมาะสม

ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณ สุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยา ศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาการตรวจหาผู้ป่วยเอดส์ดื้อยาต้องใช้ชุดตรวจเชื้อเอชไอวีดื้อยาที่มีคุณภาพ ซึ่งไทยต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศและต้องใช้เวลานานกว่าจะแปลผล ทำให้ไม่ทันต่อการรักษา อีกทั้งผู้ป่วยบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยส่งผลให้แนวโน้มการเกิดผู้ป่วยดื้อยาเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ล่าสุดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลง กรณ์มหาวิทยาลัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับบริษัทแปซิฟิคไบโอเทค วิจัยพัฒนาชุดตรวจเชื้อเอชไอวีดื้อยาและได้ทดสอบคุณภาพจนเป็นผลสำเร็จนับเป็นผลงานคนไทยครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชุดตรวจนี้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าประเทศในยุโรป และอเมริกา พร้อมต่อการนำไปใช้จริง ใช้เวลาแปลผลเพียง 2 วัน ราคาก็ถูกกว่าชุดทดสอบสำเร็จรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศกว่าครึ่ง

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ในประเทศไทยปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อที่กำลังรักษาด้วยยาต้านไวรัสอยู่อย่างน้อย 200,000 ราย ในขณะที่ทั่วโลกมีอยู่ประมาณเกือบ 10 ล้านคน และจากการประกาศของ WHO ในปีนี้ได้แนะนำให้เริ่มรักษาเร็วขึ้นคือ ที่ CD4 ต่ำกว่า 500 คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อที่ต้องรับประทานยาเพิ่มขึ้นรวมเป็นประมาณ 25 ล้านคน ทั้งนี้โดยทั่วไปจะมีอัตราการดื้อยาที่ประมาณ 15-25% แล้วแต่กลุ่มประชากร ดังนั้นจะเห็นได้ว่าชุดตรวจเชื้อเอชไอวีดื้อยาที่มีคุณภาพและราคาถูกเป็นสิ่งจำเป็นต่อหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก

นพ.สมชาย กล่าวต่ออีกว่า ห้องปฏิบัติการสถาบันวิจัยวิทยา ศาสตร์สาธารณสุขกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เป็นหน่วยงานมาตรฐานสากล ของภาครัฐที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก มีหน้าที่ในการประเมินคุณภาพห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อเอชไอวีดื้อยาต้านไวรัสแห่งชาติ และมีส่วนร่วมในการทดสอบและประเมินผลทั้งหมดของชุดน้ำยาที่ผลิตขึ้น อีกทั้งยังเป็นสถานที่จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ แนะนำชุดตรวจเชื้อเอชไอวีดื้อยานี้ให้แก่ศูนย์บริการตรวจห้องปฏิบัติการชั้นนำกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ห้องปฏิบัติการที่เข้าอบรมนำไปใช้จริง และให้การประเมินผลปรับปรุงต่อยอด สำหรับการขึ้นทะเบียนชุดตรวจสำหรับจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศต่อไป

สำหรับช่วงระยะเวลาของการศึกษาวิจัยและพัฒนาชุดตรวจเชื้อเอชไอวีดื้อยาที่ผ่านมา ศาสตราจารย์นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรมรองผู้อำนวยการ HIV-NAT และศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย เล่าว่า การพัฒนาชุดตรวจเชื้อเอชไอวีดื้อยาของคณะแพทยศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 โดยทีมวิจัยที่ประกอบด้วย ดร.สุณี ศิริวิชยกุล และศาสตราจารย์นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค โดยได้ผ่านการฝึกอบรมที่ประเทศสหรัฐ อเมริกามี Professor Scott Hammer แห่ง Harvard Medical School เป็นครูพี่เลี้ยง ซึ่งการตรวจหาเชื้อเอชไอวีที่ดื้อยาแต่เดิมนั้น ต้องเพาะเชื้อจากผู้ติดเชื้อแล้วใส่ยาต้านไวรัสลงไป เพื่อประเมินผลว่ายานั้น ๆ สามารถควบคุมการแบ่งตัวของเชื้อได้มากหรือน้อยเพียงใด แต่เนื่องจากการเพาะเชื้อจากเลือดของผู้ป่วยมีกระบวนการที่ยุ่งยาก ใช้เวลานาน ค่าใช้จ่ายสูง จึงไม่เป็นที่นิยม

ต่อมาได้มีการก่อตั้งศูนย์ความร่วมมือวิจัยด้านโรคเอดส์ระหว่าง 3 ประเทศ คือ เนเธอร์ แลนด์ ออสเตรเลียและไทย ขึ้นที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาด ไทย เพื่อทำการศึกษาวิจัยยาต้านไวรัสเอดส์ที่เหมาะสำหรับคนไทย แต่ชุดตรวจเชื้อดื้อยาที่นำเข้ามีราคาแพง จึงได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยวิธีการตรวจหาเชื้อเอชไอวีดื้อยาโดยวิธี in house Genotypic assay ขึ้นมาใช้ในห้องปฏิบัติการที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่หน่วยงานทั้งไทยและ ต่างประเทศ เช่น คณะแพทยศาสตร์ มหา วิทยาลัยเชียงใหม่ และ University of Malaya Medical Centre เป็นต้น พร้อมกับการประกันคุณภาพกับเครือข่ายนานาชาติ ด้านประกันคุณภาพการตรวจเชื้อเอชไอวีดื้อยา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงาน นวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ทุนเมธีวิจัยอาวุโส (สกว.) ทุนมหาวิทยาลัยวิจัย แห่งชาติ (สกอ.) และทุนงบประมาณแผ่น ดิน (วช.)

ผลสำเร็จของทีมวิจัยคณะแพทย ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยา ศาสตร์การแพทย์ และภาคเอกชน ที่ได้มีการพัฒนาชุดตรวจเชื้อเอชไอวีดื้อยาที่เกิดขึ้น

จะช่วยให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีทั้งในและต่างประเทศสามารถเข้าถึงการตรวจเชื้อดื้อยาที่มีคุณภาพและมีราคาถูกได้อย่างทั่วถึง หากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน จะเป็นการลดภาระการนำเข้าและนำไปสู่การส่งออกได้ในอนาคต.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  วันที่ 26 กันยายน 2556