ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภายหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 นอกจากการหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติแล้ว ปัญหาโรคติดต่อตามแนวชายแดนจะเพิ่มมากขึ้นจากเดิม และโอกาสแพร่กระจายเชื้อมายังคนไทยก็จะยิ่งสูงขึ้น

เห็นได้จากปัจจุบันยังไม่เข้าสู่เออีซีปัญหาการเกิดโรคบริเวณดังกล่าว รวมไปถึงการเข้ามารักษาพยาบาลของแรงงานต่างด้าวในโรงพยาบาลไทยโดยไม่มีหลักประกันสุขภาพก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว จนทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งประสบปัญหาทางการเงิน แม้ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะประกาศกำหนดให้แรงงานต่างด้าว และครอบครัวหรือผู้ติดตาม ซื้อบัตรประกันสุขภาพ ผู้ใหญ่ในอัตรา 2,800 บาทต่อปี รวมค่าตรวจสุขภาพด้วย แต่มาตรการดังกล่าวอาจไม่เพียงพอ เพราะปัญหาโรคชายแดนต่างๆ ยังคงมีอยู่

อย่างกรณีพม่า หรือเมียนมาร์ จากการเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มประชากรพม่าในประเทศไทย ล่าสุด ในปี 2555 พบอัตราการติดเชื้อร้อยละ 1 ส่วนโรคมาลาเรียชายแดนไทย-พม่า แม้ในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง โดยในกลุ่มคนไทยลดจาก 14,431 ราย ในปี 2553 เหลือ 9,600 ราย ในปี 2555 ในกลุ่มชาวต่างชาติลดจาก 19,283 ราย เหลือ 8,367 ราย แต่ก็ยังเป็นตัวเลขสูง โดยจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยมาลาเรียสูงสุด ได้แก่ ตาก กาญจนบุรี และแม่ฮ่องสอน สำหรับวัณโรคนั้น ในปี 2554 พบผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มต่างด้าว 2,268 ราย และมีปัญหาเชื้อดื้อยาร้อยละ 1-4 ส่วนคนไทยพบปัญหาเชื้อดื้อยาร้อยละ 1.7 และจากรายงานผลการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า พบอัตราการติดเชื้อวัณโรคประมาณร้อยละ 0.2

ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขไทยจึงต้องหาทางป้องกันการแพร่กระจายของโรค โดยล่าสุด นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ ศ.พี เธท คิน (Prof.Pe Thet Khin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พม่า ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ภายในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขไทย-พม่า (Myanmar -Thailand Health Collaborative Ministerial Meeting) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่โรงแรมมัณฑะเลย์ ฮิล รีสอร์ต เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 20-21 กันยายน 2556

"นพ.ประดิษฐ" กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การหาแนวทางแก้ปัญหาระบบหลักประกันสุขภาพของพม่า ซึ่งที่ผ่านมายังขาดการบริการทางการแพทย์บริเวณพรมแดน ทำให้แรงงานข้ามฝั่งกันมารักษาในประเทศไทย ซึ่งไทยก็ดูแลตามสิทธิมนุษยชน แต่บางกรณีก็มีการนำโรคมาด้วย จึงต้องมีการป้องกันเรื่องนี้ เบื้องต้นทางพม่าจะพัฒนาหน่วยบริการทางการแพทย์ของพม่าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีสาธารณสุขไทยเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด

ด้าน "ศ.พี เธท คิน" อธิบายเพิ่มเติมว่า ปกติพม่ามีโรงพยาบาลระดับจังหวัดจับคู่กับ โรงพยาบาลในประเทศไทยเพื่อดูแลประชากรพม่า โดยเฉพาะบริเวณติดชายแดน เรียกว่าเป็น 4 จังหวัด คู่แฝดของสองประเทศ คือ จ.เชียงราย กับ จ.ท่าขี้เหล็ก จ.ตาก และ จ.เมียวดี จ.กาญจนบุรี และ จ.ทวาย และ จ.ระนองกับเกาะสอง ซึ่งจะมีการพัฒนาโรงพยาบาลเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จะพัฒนาหน่วยบริการของพม่า หรือในไทยจะเรียกว่าสถานีอนามัย โดยจะยกระดับเป็นโรงพยาบาลให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นด้วย และจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับไทยในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขต่างๆ อาทิ การพัฒนาระบบรักษาพยาบาลและการส่งต่อผู้ป่วยข้ามพรมแดน เป็นต้น

"ที่ผ่านมา คนพม่าที่อยู่ตามแนวชายแดนอาจเข้าถึงการรักษาพยาบาลยาก ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการเมือง แต่ขณะนี้มีการเจรจาด้านสันติภาพ ดังนั้น ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ประชาชนที่อยู่ชายแดนจะได้รับการดูแลเท่าเทียมเหมือนประชาชนในเมืองหลวง โดยเราจะออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของพม่า เริ่มจากบริเวณด่านกาญจนบุรี และบริเวณเจดีย์สามองค์ ส่วนการจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพในพม่าเองนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาและจัดทำโรดแมปอยู่ ซึ่งต้องดูต้นแบบหลายๆ ประเทศ วางแผนไว้ประมาณ 20 ปีน่าจะเห็นภาพขึ้น เรื่องนี้ต้องใช้เวลา เพราะหลายประเทศก็ใช้เวลามากกว่าสิบๆ ปี บ้างเป็น ร้อยปีก็มี" ศ.พี เธท คิน กล่าว

ขณะที่ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความร่วมมือกันพัฒนาโรงพยาบาล 4 คู่แฝดว่า จะเน้นในเรื่องการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐาน ในเรื่องการอบรมบุคลากรของพม่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งตรงนี้เมื่อเกิดเป็นความร่วมมือในการทำเอ็มโอยูแล้ว มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะสามารถสนับสนุนงบประมาณบางส่วนให้พม่าในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศ ในการดำเนินการว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งในส่วนของไทย สิ่งที่ต้องการจากพม่า คือ ข้อมูล เนื่องจากโรคชายแดน ไม่ได้มีเพียงโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย หรือปัญหาดื้อยาต่างๆ แต่ยังมีโรคอื่น อย่างไข้เลือดออก โรคเท้าช้าง ซึ่งหากไทยทราบข้อมูลอัตราการป่วย หรือการเกิดโรค ก็สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลป้องกันการระบาดของโรคในประเทศไทยได้ด้วย

อธิบดีกรมควบคุมโรคย้ำว่า ในการดูแลคนทั้งสองประเทศ ไทยยังมีคณะกรรมการชายแดน ที่มีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลปัญหาของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหาทางช่วยเหลือป้องกันโรค โดยหากต้องการข้อมูลวิชาการ หรือคำแนะนำใดๆ ก็จะสอบถามมายังส่วนกลาง ตรงนี้ก็จะเป็นอีกช่องทางในการติดตามเฝ้าระวังโรคชายแดนได้

ไม่เพียงเท่านี้ แรงงานพม่าในไทยที่อยู่ตามชุมชนต่างๆ อาจไม่มีระบบดูแลสุขภาพที่ดีพอ ได้มีการหารือในการตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว เพื่อดูแลภายในชุมชนกันเอง โดยกระทรวงสาธารณสุขไทย จะเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

สำหรับความร่วมมือในการจัดทำเอ็มโอยูดังกล่าว เบื้องต้นมีอายุ 5 ปี แต่การจัดการโรค คาดว่าใน 3 ปี ก็น่าจะเห็นภาพชัดขึ้น

ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และความร่วมมือลักษณะนี้จะต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ด้วย

--มติชน ฉบับวันที่ 29 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--