ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -"การต่อสู้ยังไม่จบแค่นี้หรอก" วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และแกนนำผลักดันกฎหมายประกันสังคมฉบับที่ประชาชน14,264 คนเข้าชื่อเสนอ เอ่ยขึ้นเมื่อถูกถามว่าจะเอาอย่างไรต่อไปกับกฎหมายฉบับนี้

ย้อนกลับไปในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ร่างกฎหมายประกันสังคมถูกเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฏร 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2.ร่างฉบับของ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คน เข้าชื่อเสนอ 3.ร่างฉบับของนายนคร มาฉิม ส.ส.ประชาธิปัตย์ และ 4.ร่างฉบับของนายเรวัติ อารีรอบ ส.ส.ประชาธิปัตย์

อย่างไรก็ตาม สภาฯรับหลักการวาระ 1 แค่ร่างฉบับครม.และของนายเรวัติ แต่ตีตกร่างฉบับของ น.ส.วิไลวรรณ และนายนคร จากนั้นมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมา โดยให้ความสำคัญกับร่างฉบับของครม.เป็นหลัก โดยแทบไม่ได้นำเนื้อหาในร่างของนายเรวัติมาปรับใช้เลย แถมยังแก้ไขโครงสร้างอำนาจคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) จากเดิมที่ปลัดกระทรวงเป็นประธานบอร์ด มาเป็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานบอร์ดแทนอีกด้วย

ในที่สุดร่างกฎหมายก็ผ่านการพิจารณาของ กมธ. รอเข้าสู่วาระ 2 ซึ่งเป็นการอภิปรายรายมาตรา ขณะที่เครือข่ายแรงงานก็แถลงข่าวแสดงจุดยืนคัดค้านร่างฯดังกล่าวปลายเดือน ก.ค. แล้วก็เงียบไป

วิไลวรรณ กล่าวว่า ที่เงียบไปนั้นเนื่องจากเป็นช่วงที่การเมืองกำลังร้อนแรง เพราะมีการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท จึงต้องรอกระแสการเมืองเบาลงก่อน

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เงียบๆนี้ก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ เพราะได้มีการประชุมวางแนวทางคัดค้านร่างฯฉบับที่ผ่านกมธ.ไว้แล้ว โดยเน้นการต่อสู้ในชั้นวุฒิสภาและช่องทางองค์กรอิสระ ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งอาจต้องฟ้องศาลรัฐธรรมนูญด้วย

"ขั้นตอนต่อจากนี้เราจะติดตามทวงถามความคืบหน้าจากหน่วยงานต่างๆที่เราเคยยื่นหนังสือร้องเรียน ทั้งในส่วนของวุฒิสภา ซึ่งเราเคยยื่นหนังสือให้ประธานวุฒิฯไปตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. กสม.ก็วันที่ 9 เม.ย. และผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเมื่อวันที่ 2 ส.ค.โดยจะขอให้หน่วยงานเหล่านี้ทำหนังสือตอบเรามาว่าได้ดำเนินการอย่างไรแล้วบ้าง"วิไลวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ในส่วนของวุฒิสภา วิไลวรรณ ฝากความหวังไว้มากว่าจะพิจารณากฎหมายอย่างละเอียด โดยเฉพาะประเด็นการแก้กฎหมายให้รัฐมนตรีแรงงานมานั่งเป็นประธานบอร์ด รวมทั้งมอบอำนาจให้ออกระเบียบการเลือกตั้งกรรมการสปส. ซึ่งถือเป็นการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายการเมือง เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน และทำลายกระบวนการมีส่วนร่วมของประกันตนกว่า 10 ล้านคน

การเดินเกมในชั้นวุฒิสภา เครือข่ายแรงงานตั้งความหวังว่าวุฒิสภาจะแก้กฎหมายแบบพลิกฝ่ามือ หลุดกรอบจากที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการในวาระ 1 ไปเลย ซึ่งหลังจากนั้นจะนำไปสู่ขั้นตอนการตั้งกรรมาธิการร่วมของทั้ง 2 สภา

ท้ายที่สุด แม้สภาผู้แทนราษฎรอาจจะยืนยันร่างฯฉบับเดิม แต่อย่างน้อยก็คือถือได้ต่อสู้ในขั้นตอนนี้อย่างถึงที่สุดแล้ว

"วันที่ 17 ต.ค. นี้ เราก็จะไปยื่นหนังสือให้ กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ของวุฒิสภา ซึ่งมีคุณตวง อันทะไชย เป็นประธาน และติดตามว่าร่างกฎหมายจะเข้าสู่วุฒิสภาวันไหน วันนั้นเราจะพาพี่น้องแรงงานไปแสดง จุดยืนคัดค้านและให้แก้กฎหมายให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกันตนอีกครั้ง"วิไลวรรณ กล่าว

ขณะเดียวกัน ในส่วนของการติดตามทวงถามความคืบหน้าจากกสม.และผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็เพื่อให้ทราบว่าทั้ง 2
หน่วยงานจะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้หรือไม่ ในประเด็นที่ว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ ถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 7 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนซึ่งเปิดช่องให้เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายและร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกรรมาธิการทั้งหมด

"การกระทำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่รับหลักการวาระ 1 ของกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอโดยตรง ถือเป็นการละเมิดสิทธิของเรา คนพวกนี้อ้างประชาธิปไตย แต่พอเป็นประชาธิปไตยที่กินได้อย่างกฎหมายประกันสังคม ซึ่งสำคัญกับปากท้องแรงงาน 10 ล้านคนกลับไม่สนใจ ไปสนใจประชาธิปไตยสำหรับนักการเมืองหรือคนไม่กี่คน นี่มันประชาธิปไตยแบบไหน"วิไลวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ หากทั้ง กสม.และ ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ทางเครือข่ายแรงงานจะใช้สิทธิยื่นเรื่องเอง แต่ขั้นตอนนี้ยังต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายก่อนว่าจะฟ้องในประเด็นไหน ระหว่าง 1.ฟ้องว่าการที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับประชาชน เป็นการขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญว่าด้วยการมีส่วนร่วม หรือ 2.จะรอให้กฎหมายผ่านสภาเตรียมบังคับใช้ จึงค่อยฟ้องว่าเป็นการออกกฎหมายโดยมิชอบ

"นอกจากขั้นตอนตามกระบวนการต่างๆแล้ว ในระยะยาว เราจะรวบรวมรายชื่อ ส.ส. ว่าคนไหน เขตไหนที่ไม่รับร่างกฎหมายฉบับประชาชนบ้าง และรณรงค์พี่น้องแรงงานให้ทบทวนท่าทีกับส.ส.ในพื้นที่ เพราะเมื่อเขาไม่เห็นความสำคัญของประชาชนแล้ว เราจะยังสนับสนุนเขาให้ทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่"วิไลวรรณ กล่าวทิ้งท้าย