ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ - ในอดีตคนไทยมีบทบาทในเวทีโลกค่อนข้างน้อย อาจเป็นเพราะข้อจำกัดเรื่องภาษาและลักษณะอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ค่อยกล้าแสดงออกในแวดวงสาธารณสุขก็เช่นเดียวกัน

เคยมีความพยายามผลักดันคนไทยให้ไปดำรงตำแหน่งสำคัญในเวทีสาธารณสุขระหว่างประเทศ เช่น การวางแผนให้ นพ.ประกอบ ตู้จินดา อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุขไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การอนามัยโลก จนทำท่าว่าจะสำเร็จ เพราะอาจารย์ประกอบเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและเป็นที่ยอมรับสูง เคยทำหน้าที่เป็นถึงประธานสมัชชาอนามัยโลก แต่ผลสุดท้ายไม่สำเร็จเพราะ "ภรรยาไม่อนุญาต"

ต่อมามีความพยายามผลักดันรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขท่านหนึ่งไปทำหน้าที่นี้เสียเงินเสียทองของทางราชการมากมายในการตระเวนไป "แนะนำตัว" และ "ล็อบบี้"ประเทศสมาชิก แต่ก็เหลวเพราะไม่เป็นที่ยอมรับ ถึงเวลาเลือก ได้เพียงคะแนนเดียว ซึ่งคงเป็นคะแนนจากการลงให้ตัวเอง

ปัจจุบัน ผู้ดำรงตำแหน่งนี้เป็นคนไทย คือนพ.สำลี เปลี่ยนบางช้าง ซึ่งขึ้นไปรับตำแหน่งด้วย "ลำแข้ง" ของตัวท่านเอง ด้วยความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง

อีกท่านหนึ่งที่ควรกล่าวถึง คือ ศ.นพ.เสมพริ้งพวงแก้ว อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข ซึ่งเคยประชุมกับ นพ.มาห์เลอร์ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก นพ.มาห์เลอร์ มีกิตติศัพท์เป็นนักพูดและเป็นผู้รอบรู้ในเรื่องต่างๆทั้งกว้างและลึก ในทุกเวทีที่นายแพทย์ผู้นี้ไปร่วมประชุมด้วย หลังเริ่มประชุมไปได้ไม่นานท่านจะกลายเป็นผู้ "คุม" เวทีการประชุมไปเสมอๆแต่เมื่อมาประชุมกับอาจารย์เสมที่กระทรวงสาธารณสุขสมัยอยู่ที่วังเทวะเวสม์กลับกลายเป็นอาจารย์เสมที่เป็นผู้ "คุม" เวทีการประชุมและตอนท้ายการประชุมในวันที่สาม นพ.มาห์เลอร์ได้ลุกขึ้น โยนแฟ้มลงตรงหน้าแล้วประกาศว่า ต่อไปนี้เงินช่วยเหลือขององค์การ อนามัยโลกที่ให้แก่ประเทศไทย ให้ประเทศไทยพิจารณาเอง ไม่ต้องส่งไปขอความเห็นชอบจากองค์การอนามัยโลก นับเป็นการให้เกียรติอย่างสูงแก่ประเทศไทย โดยหลังจากนั้น ไม่มีประเทศใดได้รับเกียรติเช่นนี้อีก คำประกาศของ นพ.มาห์เลอร์ครั้งนั้น เรียกกันว่า "ปฏิญญากรุงเทพฯ" (Bangkok Declaration) โดยท่านพูดเป็นประโยคว่า "จะลงนรกขุมไหนก็ช่าง พวกคุณจะทำอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ" (What the hell it is, you can do what you want.)

แม้บางท่านในวงการสาธารณสุขจะได้รับการยอมรับอย่างสูงมาก ดังกล่าวแล้ว งานสาธารณสุขระหว่างประเทศในกระทรวงสาธารณสุข ก็อ่อนแอมาโดยตลอด หน่วยงานรับผิดชอบคือ กองการสาธารณสุขต่างประเทศซึ่งปัจจุบันยกฐานะขึ้นเป็นสำนักการสาธารณสุขระหว่างประเทศ ทำงานด้านธุรการและวิเทศสัมพันธ์เป็นหลัก งานด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศจริงๆ ทำน้อย งานหลักคือการอำนวยความสะดวกให้แก่ "ผู้ใหญ่" ในการทำหนังสือเดินทางและการเดินทางไปต่างประเทศ

ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนางานด้านการสาธารณสุขระหว่างประเทศ จนประเทศไทยมีชื่อเสียงอย่างมากในเวทีการสาธารณสุขนานาชาติ ในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมาคือ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และ นพ.วิโรจน์ตั้งเจริญเสถียร

การสร้างบทบาทในเวทีสาธารณสุขนานาชาตินั้น วัตถุประสงค์หลักย่อมมิใช่เพียงเพื่อการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยเท่านั้นแต่ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันนโยบายระดับสากลให้สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขในประเทศไทย ตัวอย่างเช่นเรื่องบุหรี่และสุราบริษัทบุหรี่และสุรามีความพยายามอย่างสูงที่จะ"วิ่งเต้น" (Lobby) เพื่อให้องค์การอนามัยโลกผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ลง ถ้าเราไม่ไป "ทำสงคราม" ยันไว้ในเวทีโลก การรณรงค์เรื่องบุหรี่และสุราในประเทศก็อาจถูกกระทบกระเทือน

เรื่องยาก็เช่นกันบริษัทยาข้ามชาติพยายามทำให้โครงการรณรงค์การใช้ยาที่เหมาะสม(Rational Use of Drug) ขององค์การอนามัยโลกอ่อนแอลง เพื่อให้ขายยาได้มากขึ้น

เรื่องวัคซีนประเทศไทยประสบความสำเร็จในการผลักดันให้องค์การอนามัยโลกมีมติ(Resolution) "กระตุ้น" ให้ประเทศพัฒนาแล้วให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถพัฒนาวัคซีนใช้เองได้ เป็นผลให้เราได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็นจากรัสเซียผ่านองค์การอนามัยโลก และสามารถร้องขอให้กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเข้ามา "ช่วยเหลือ" ในโครงการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายของเราได้ และญี่ปุ่นโดยบริษัท คาเคทสุเกน ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่อันดับสองในญี่ปุ่น ก็ได้เข้ามาทำหน้าที่ "ครูฝึก" (Coach) หรือ "พี่เลี้ยง" ให้เราอย่างดียิ่ง มิฉะนั้นงบประมาณลงทุนถึงกว่าพันสี่ร้อยล้านบาทของเราก็อาจไม่ไปถึงไหน เพราะบริษัทวัคซีนข้ามชาติทั้งหลายมีข้อตกลงลับกันว่าจะไม่ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับประเทศกำลังพัฒนา

ในการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ ซึ่งจะต้องมีความระมัดระวังในเรื่องผลกระทบเรื่องการพัฒนาสาธารณสุขของประเทศไทย ก็มีการทำโครงการศึกษาปัญหาผลกระทบ มีการพัฒนาคนและสร้างทีมงานอย่างเป็นระบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ ทำให้ทีมเจรจาของเราแข็งแกร่งมาก

ปัจจุบัน เรามีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถด้านสุขภาพโลกทุกปีในประเทศไทย และยังได้รับการยอมรับให้เป็นผู้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในระดับภูมิภาค รวมทั้งยังมีประเทศกำลังพัฒนาเชิญให้เราไปจัดประชุมเชิงปฏิบัติการให้เขาด้วย ได้แก่เวียดนาม บังกลาเทศ และอินโดนีเซีย เรามีการสร้าง "ผู้นำสุขภาพโลก" ขึ้นในกรมต่างๆของกระทรวงสาธารณสุขและในมหาวิทยาลัยด้วย มหาวิทยาลัยมหิดลมีการจัดตั้งคลัสเตอร์เรื่องนี้(Mahidol University Global Health - MUGH)

ขีดความสามารถและเครือข่ายที่สร้างขึ้นมาตลอดระยะเวลาเกือบยี่สิบปี ทำให้ประเทศไทยสามารถจัดการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้อย่างดี เป็นประจำทุกปี โดยมุ่งเน้นประเด็นนโยบายสุขภาพระดับโลก และได้รับการยอมรับและร่วมเป็นเจ้าภาพจากองค์กรหลักด้านสุขภาพระดับโลกทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะองค์การอนามัยโลกธนาคารโลก มูลนิธิรอกกี้เฟลเลอร์ เป็นต้น การประชุมนี้ประสบความสำเร็จจนกระทั่งผู้นำด้านสุขภาพโลกหลายท่าน โดยเฉพาะ นพ.ลินคอล์นเชน ประธานมูลนิธิ China Medical Board กล่าวว่า เป็นการประชุมสุดยอดด้านสุขภาพของโลกที่แท้จริง (Global Health Summit)

งานนี้เริ่มจากงานโครงการ ต่อมาก่อรูปเป็นองค์กร คือ "สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ" (International Health Policy Program ชื่อย่อว่าIHPP) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 โดยระยะแรก เป็น "องค์กรลูก"ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)ปัจจุบันมีสถานะเป็นกลุ่มงานภายใต้ "สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์" และเพื่อความคล่องตัวและยั่งยืนในการดำเนินการ ได้มีการจัดตั้งมูลนิธิพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศขึ้นโดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถในด้านนโยบายและระบบสุขภาพของไทย ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับงานด้านการสาธารณสุขระหว่างประเทศ

แม้สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศจะมิได้เป็นอีกหนึ่งองค์กรตระกูล ส. โดยตรง แต่ก็จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรตระกูล ส. คือ สวรส.

นี่เป็นตัวอย่างขององค์กรตระกูล ส. ที่ทำงานร่วมและสนับสนุนงานของกระทรวงสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 1 ตุลาคม 2556