ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ จอมเทียนพัทยา จ.ชลบุรี สมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดประชุมสัมมนาโครงการอบรมสัมมนาทางวิชาการ "ความก้าวหน้าการบริหารงานบุคคลและสิทธิและสวัสดิการขององค์กรปกครองท้องถิ่น ประจำปี 2556" โดยนายเชื้อ ฮั่นจินดา ประธานสมาพันธ์ปลัด อบต.แห่งประเทศไทย นายศักดิพงษ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย และ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายการใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลโดยตรงของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น มีปลัด ข้าราชการ และพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 3,000 แห่ง ทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม

นพ.วินัยกล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายจัดตั้งกองทุนกลางค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัว เพื่อให้เกิดระบบคุ้มครองความมั่นคงด้านสิทธิการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัวให้ได้รับบริการที่เสมอภาคกับสิทธิอื่นๆ และลดภาระความเสี่ยงของ อปท.ขนาดเล็ก ซึ่งสิทธิประโยชน์นั้นมีความเสมอภาคและทัดเทียมระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ โดยที่ผู้มีสิทธิไม่ต้องสำรองจ่าย สามารถรักษาที่โรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง

"ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชกฤษฎีกากองทุนค่ารักษาพยาบาลข้าราชการท้องถิ่น กำหนดให้พนักงานและลูกจ้างของ อปท.ใช้สิทธิจ่ายตรงในการรับบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม หลังจากนี้กระบวนการจะมีการเสนอร่าง พ.ร.ฎ. ที่ ครม.ให้ความเห็นชอบ ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็น จากนั้นส่งกลับมายัง ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบอีกครั้ง และนำร่าง พ.ร.ฎ.ขึ้นทูลเกล้าฯก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป" นพ.วินัยกล่าว

นพ.วินัยกล่าวว่า ในส่วนการเตรียมงานของ สปสช.นั้น ขณะนี้มีความพร้อมในทุกด้านแล้ว ทั้งการจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนของผู้ที่ได้รับสิทธิ และผู้ใช้สิทธิร่วมของข้าราชการส่วนท้องถิ่นให้ถูกต้องครบถ้วน โดยการพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาและให้ อปท.แต่ละแห่งคีย์ข้อมูลลงไปในโปรแกรม ปัจจุบันมียอดของผู้ใช้สิทธิมากกว่า 660,000 ราย จาก อบจ. 76 แห่ง เทศบาล 1,900 แห่ง และ อบต. 5,693 แห่ง เหลือ อปท.ประมาณ 98 แห่งที่ยังให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน สามารถลงทะเบียนได้ที่นายทะเบียนประจำ อปท.ที่สังกัดอยู่ ใช้ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส และใบรับรองบุตร โดยสิทธิจะเกิดภายใน 1 วัน หลังการบันทึกข้อมูล

"ในการใช้บริการนั้น ผู้ที่ลงทะเบียนแล้วไม่ต้องสำรองจ่าย เพียงแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้มีเลข 13 หลัก กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ใช้สูติบัตร สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน หากไปใช้บริการต้องสำรองจ่ายแล้วนำใบเสร็จไปเบิกจ่ายกับต้นสังกัด แล้วจะได้รับเงินคืนหลังจากตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารแล้ว" เลขาธิการ สปสช.กล่าว

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 2 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง