ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินโรงพยาบาลเอกชน 64 แห่งทั่วประเทศ เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงบริการกับภาครัฐในพื้นที่ รองรับทั้งภาวะปกติและภาวะภัยพิบัติ ภายใต้ศูนย์บัญชาการกู้ชีพ 1669 เพิ่มโอกาสเข้าถึงของผู้ป่วยทั้งชาวไทยและต่างชาติ อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพมาตรฐาน

วันนี้ ( 2 ตุลาคม 2556 ) ที่โรงแรมรามาการ์เด้น กทม.นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ 64 แห่ง เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและรองรับนักท่องเที่ยว เป็นเครือข่ายบริการร่วมกับโรงพยาบาลภาครัฐทั่วประเทศ ในการปฏิบัติการช่วยชีวิตประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินในภาวะปกติและภาวะพิบัติภัย

นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ ซึ่งเป็นระบบการดูแลผู้ป่วยนอกที่ตั้งโรงพยาบาล เพื่อช่วยชีวิตเบื้องต้นโดยเร็วที่สุดและนำส่งโรงพยาบาล ให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างปลอดภัยและทันการณ์ทั้งในภาวะปกติ และในภาวะภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีแนวโน้มเกิดถี่ขึ้น จะต้องอาศัยการปฏิบัติงานดูแลช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของเครือข่ายบริการ ซึ่งตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบบริการ ดูแลประชาชนในรูปแบบของเครือข่ายบริการ มีทั้งหมด 12 เครือข่ายและกทม. ดูแลประชาชนเครือข่ายละ 5-7 ล้านคน ซึ่งมีขนาดพอเหมาะ จะทำให้บริการเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (Medical Hub) ของเอเชีย เพิ่มรายได้เข้าประเทศ นอกจากจะสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพบริการด้านการรักษาพยาบาลของไทยแล้ว การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินจะเป็นการสร้างความมั่นใจประชาชนทั้งประชาชนไทยและต่างชาติ ซึ่งในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชนสมัครร่วมเป็นเครือข่ายบริการการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกับภาครัฐ ภายใต้ศูนย์บัญชาการกู้ชีพ 1669 ที่มีจำนวน 98 ศูนย์ทั่วประเทศ จัดว่าเป็นการสร้างมาตรฐานบริการสุขภาพของไทย โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน และเตรียมพร้อมที่จะก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เรียกว่าเป็นประตูสู่อาเซียน ตั้งเป้าทีมแพทย์กู้ชีพออกปฏิบัติการไปถึงจุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็วภายใน 10 นาที ให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และหากมีโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมอีกมั่นใจว่าจะให้บริการได้รวดเร็วขึ้น เพราะระยะทางสั้นขึ้น

ทางด้านนายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระหว่างภาครัฐและเอกชน อยู่ในลักษณะต่างคนต่างทำ มาตรฐานมีความแตกต่างกัน แต่หลังจากที่มีพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พ.ศ. 2551 แล้ว ได้กำหนดให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินและแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ให้เข้าสู่ระบบเดียวกันภายในพ.ศ. 2559 โดยในปีที่ผ่านมา มีการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวนทั้งหมด 1 ล้านกว่าครั้งและคาดว่ามีแนวโน้มมากขึ้นจากปัญหาอุบัติเหตุ และการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากโรคประจำตัวกำเริบ

นายแพทย์อนุชากล่าวว่า ในการพัฒนาโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีทั้งหมด 321 แห่งทั่วประเทศให้เป็นเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินในปีแรกนี้ จะเน้นตามความพร้อมของโรงพยาบาล ซึ่งมีเข้าร่วมแล้ว 64 แห่ง โดยจะพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งบุคลากร มาตรฐานห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน ระบบการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล เพื่อให้การบริการ มีความทั่วถึง รวดเร็ว และมีมาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง