ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มะเร็งเต้านม เป็นปัญหาสาธารณสุขของโลก รวมทั้งประเทศไทย หลายคนยังไม่ทราบว่า มะเร็งเต้านมพบในผู้ชายด้วย

มะเร็งเต้านม (Breast Cancer Awareness Month) รู้จักกันดีกับ "สัญลักษณ์โบสีชมพู" ในเดือนนี้มีการรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการดูแลสุขภาพของเต้านมด้วยตนเอง การตรวจหามะเร็งตั้งแต่ระยะแรก และยังมีคำขวัญว่า "มะเร็งเต้านมระยะแรก มีโอกาสหาย (ขาด) ได้"

มีข้อสังเกตว่า มะเร็งเต้านมระยะลุกลาม เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ โดยเฉพาะกรณีที่แพทย์สามารถผ่าตัดเอามะเร็งที่กระจายออกหมด มีโอกาสหายได้เช่นกัน เพียงแต่กระบวนการรักษาจะมีความซับซ้อนกว่า ใช้เวลานานกว่าเท่านั้นเอง จากข้อมูลทางวิชาการ ร้อยละ 30 ของมะเร็งเต้านมระยะแรก มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม แต่ปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม มีความก้าวหน้าขึ้นมากจนนึกไม่ถึง ผู้ป่วยมะเร็งลุกลาม มีโอกาสหายได้ หรือควบคุมโรคได้หลายครั้ง ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ เป็นผลทำให้บนโลกใบนี้ มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต

ปัจจุบันการรณรงค์เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม ควรจะมีเนื้อหาสาระของมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม รวมอยู่ด้วย จะได้เป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย เพราะปัจจุบันความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มีมากมาย และลงลึกถึงระดับโมเลกุล (DNA) มีผลทำให้การรักษาโรคมะเร็ง พัฒนาไปไกลมาก เช่น เราสามารถจัดผู้ป่วยมะเร็งเต้านมออกเป็นกลุ่มตามลักษณะการแสดงของยีน (DNA) ว่าแต่ละกลุ่มควรจะรักษาอย่างไร เป็นการแพทย์เฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) คือผู้ป่วยมะเร็งแต่ละคน จะมีแผนการรักษาเฉพาะตนเอง อาจใช้ยาเคมีบำบัดหรือไม่ใช้ก็ได้ มีทางเลือกมากมาย แม้แต่ผู้ป่วยมะเร็งที่โรคกลับมาเป็นซ้ำ ครั้งที่ 1, 2 หรือ 3  อาจมีการแสดงออกของยีนแตกต่างไปจากโรคมะเร็งเต้านมต้นกำเนิด ซึ่งแผนการรักษาอาจเปลี่ยนไป

ที่สำคัญการพัฒนาการรักษาและยา เพื่อเอาชนะการดื้อยาของเซลล์มะเร็ง อาจออกมาในรูปของยาขนานใหม่ หรือนำยาเดิมมาใช้ร่วมกับสูตรยาขนานใหม่ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ในกลุ่มที่มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นบวก (ER+) แม้ว่าจะมีการกระจายของโรคไปที่อวัยวะอื่นๆ แล้ว แต่ผู้ป่วยยังอยู่ในสภาพร่างกายที่ดี ก็สามารถรักษาได้ โดยหลีกเลี่ยงการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ที่ประชาชนหรือแม้แต่แพทย์บางท่าน ยังมีความกลัวอยู่เป็นนิรันดร์

ดังนั้นจะเห็นว่าทุกอย่างบนโลกใบนี้ มีการเปลี่ยนแปลงทั้งดีและไม่ดี จะว่าไปแล้ว วงการแพทย์ทุกสาขาโดยเฉพาะมะเร็ง มีแต่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นตลอดเวลา ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีชีวิตที่ยืนยาวได้ (Cancer Survival)

ฤดูร้อนปี ค.ศ. 2009 ในสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม 9 คน ได้รวมพลังกันขอเข้าพบกับสมาชิกรัฐสภา เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ให้เข้าใจเรื่องราวชีวิต มุมต่างๆ ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม และผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงในยุคปัจจุบัน ในที่สุด คณะรัฐสภามีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้า ในการรักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม และการ เข้าถึงการรักษา เพื่อให้ประชาชนทราบความจริง พร้อมทั้งประกาศให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี  เป็นวันรณรงค์ต่อต้านและช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (Metastatic Breast Cancer Awareness Day)

ดังนั้นเพียง 1 วันในเดือนตุลาคม ควรจะเป็นวันที่ทุกคน ทุกฝ่าย ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน จงร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยกระจายความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม การรักษาที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ได้รับการรักษาแบบเฉพาะบุคคล รวมทั้งชี้แนะให้เห็นความสำคัญของการติดตาม ผลการรักษาของแพทย์ที่ดูแลได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ร่วมกับการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง เฝ้าระวังการกลับมาของโรค เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มนี้อยู่กับโรคมะเร็งได้อย่างปกติสุข และแสดงให้เห็นว่ามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ไม่ใช่ระยะสุดท้ายของชีวิต อีกต่อไป

ผู้เขียน : นพ.อาคม เชียรศิลป ที่ปรึกษาชมรม Thai Breast Friends แห่งประเทศไทย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 2 ตุลาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง