ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรุงเทพธุรกิจ - สพฉ.จับมือ มูลนิธิไทยโรดส์ พัฒนาระบบรายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนที่ระบุตำแหน่งในเชิงพิกัดภูมิศาสตร์โดยหน่วยกู้ชีพ/กู้ภัย เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ตำแหน่งและสถานที่เกิดอุบัติเหตุ เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เพราะสามารถระบุให้ทราบถึงจุดเสี่ยงและจุดอันตรายที่มักเกิดอุบัติเหตุกับยานพาหนะหรือผู้ใช้ถนน

ดังนั้นสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และ มูลนิธิไทยโรดส์ จึงได้ร่วมมือกันพัฒนาระบบรายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนที่สามารถระบุตำแหน่งในเชิงพิกัดภูมิศาสตร์โดยหน่วยกู้ชีพ กู้ภัย ผ่านแอพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนขึ้น ซึ่งหน่วยกู้ชีพกู้ภัยภายในการกำกับดูแลของ สพฉ. จะสามารถระบุตำแหน่งของอุบัติเหตุ พร้อมทั้งเก็บข้อมูลภาพถ่าย และรายละเอียดเบื้องต้นของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนขณะออกไปปฏิบัติงานได้ อีกทั้งในปัจจุบันเทคโนโลยีของสมาร์ทโฟนได้มีการพัฒนา และมีการใช้งานมากขึ้น

การพัฒนาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบรายงานอุบัติเหตุทางถนนที่ระบุตำแหน่งชัดเจน ซึ่งจะมีประโยชน์ในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และการให้ข้อมูลกับประชาชนผู้ใช้ทางเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจหลีกเลี่ยงเส้นทางได้

"การพัฒนาระบบรายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนที่ระบุตำแหน่งในเชิงพิกัดภูมิศาสตร์โดยหน่วยกู้ชีพ/กู้ภัยนั้น สพฉ.จะพัฒนาแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉิน (ITEMS) ของสถาบัน กับระบบรายงานข้อมูลอุบัติเหตุที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้เกิดการบูรณาการด้านข้อมูล พร้อมทั้งสนับสนุน และส่งเสริมให้มีการใช้งานระบบรายงานข้อมูลอุบัติเหตุ โดยหน่วยกู้ชีพ/กู้ภัยทั่วประเทศ และ ดูแลและบำรุงรักษาระบบรายงานข้อมูลอุบัติเหตุให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ" เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าว

สำหรับการทำงานของระบบรายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนที่ระบุตำแหน่งในเชิงพิกัดภูมิศาสตร์โดยหน่วยกู้ชีพ/กู้ภัยนั้นต้นแบบของระบบที่จะพัฒนาขึ้นประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก3 ส่วน คือ 1.ส่วนของโมบายแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ที่เจ้าหน้าที่กู้ชีพกู้ภัยใช้ในการบันทึกและส่งข้อมูลต่างๆจากจุดเกิดเหตุมาที่เซิร์ฟเวอร์  2. ส่วนของเซิร์ฟเวอร์และฐานข้อมูลต่างๆ ของระบบ 3 ส่วนของเว็บแอพลิเคชั่นเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเรียกดูค้นหาแก้ไขข้อมูลและออกรายงานสรุปต่างๆ ได้  โดยเมื่อเจ้าหน้าที่กู้ชีพกู้ภัยเมื่อเข้าไปถึงบริเวณที่เกิดเหตุจะดำเนินการเก็บข้อมูลรายละเอียดของอุบัติเหตุผ่านโมบายแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นบนสมาร์ทโฟน โดยข้อมูลอุบัติเหตุที่จะเก็บเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่จำเป็นเท่านั้นเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่เจ้าหน้าที่

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 3 ตุลาคม 2556