ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ฐานเศรษฐกิจ - ทุกวันนี้เหลียวซ้ายแลขวาคนมักบ่นเศรษฐกิจมันรัดตัว ข้าวของแพงหูฉี่ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบ้างก็ว่าคิดกันไปเองรึเปล่า...  เรื่องที่คิดกันไปเองนี่แหละที่จะนำไปสู่เรื่องราวที่ทีม Weekender plus อยากนำมาเตือนกัน เตือนให้หันมาสนใจคนข้างเคียงบ้างว่าเขามีอาการอย่างไร เยียวยาจิตใจเขาได้อย่างไร?...  ก่อนที่จะนำไปสู่..ความตาย!!.  .ช่วงที่ผ่านมาตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์จะเห็นข่าวคราวการฆ่าตัวตายตั้งแต่ระดับชาวบ้านธรรมดา ตำรวจ ไปจนถึงนักธุรกิจใหญ่  ซึ่งทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ที่พบว่าจากสภาวะสังคมปัจจุบัน ปัจจัยแวดล้อมมากมายที่ก่อให้เกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงปัญหาครอบครัว ส่งผลให้คนไทยจำนวนมากไม่สามารถแบกรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้  และด้วยความเปลี่ยนแปลงนั้น ทำให้ป่วยเป็นโรคจิตเพิ่มมากขึ้น จากสถิติของกรมสุขภาพจิต และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินพบคือในไทยมีผู้ป่วยโรคจิตเข้ารับการรักษากว่า 1,076,155 คน และ ในปี 2555 มีการออกปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีอาการคลุ้มคลั่ง 11,652 ครั้ง และในปี 2556 (ตัวเลขตั้งแต่ ต.ค.55-มิ.ย.56) นี้มีตัวเลขอยู่ที่ 7,588 ครั้ง

โดยลักษณะของการป่วยโรคจิตมีหลายประเภท แต่ประเภทที่น่าเป็นห่วง คือ โรคจิตที่จะทำให้เกิดอาการคลุ้มคลั่ง ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น ได้แก่ โรคจิตชนิดซึมเศร้า คนที่เป็นโรคจิตชนิดนี้จะมีอาการเฉื่อยชา ไม่ดูแลตนเอง เบื่ออาหาร คิดมาก วิตกกังวล บางคนก็ร้องไห้ตลอดเวลา และบางคนอาจตัดสินใจถึงขั้นฆ่าตัวตาย...คุณและคนข้างกายมีอาการบ้างหรือยัง?

เรื่องนี้ "ผศ.พ.ต.ท.ดร.ชัชนันท์  ลีระเติมพงษ์" อาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจเล่าให้ฟังว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคม หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว และไม่ส่งผลเสียหายต่อประเทศมากนักเพราะเป็นเรื่องความสมัครใจ แต่หากพิจารณาจากสถิติกรณีฆ่าตัวตายแล้วจะพบว่าในประเทศไทยจะมีบุคคลฆ่าตัวตาย ประมาณ 6 คน ต่อประชากร 1 แสนคน หรือประมาณเกือบ 4 พันคนต่อปี และช่วงหลังมานี้ปัญหานี้ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ไปสู่กลุ่มคนทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นดารา นักร้อง นักแสดง นักธุรกิจ นักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะที่เป็นข่าวบ่อยๆ ช่วงนี้ คือ ข้าราชการ บุคคลติดอาวุธ ซึ่งก่อนที่จะก่อเหตุฆ่าตัวตายก็มักจะก่อเหตุฆ่าผู้บังคับบัญชา หรือผู้ที่มีเรื่องบาดหมางกันมาก่อน เป็นข่าวสะเทือนขวัญอยู่บ่อยครั้ง หากคิดเป็นตัวเลขความสูญเสียด้านชีวิตแล้วถือว่ามหาศาล ยังไม่นับรวมความสูญเสียด้านเศรษฐกิจ และการลงทุนในภาครัฐ ด้านการศึกษา กว่าบุคคลผู้นั้นจะเติบโตจนมาฆ่าตัวตาย

ดังนั้นปัญหาการฆ่าตัวตายซึ่งเดิมมักถูกมองข้ามว่าเป็นปัญหาเล็กจึงควรนำกลับมาทบทวนและช่วยกันขจัดปัญหาเหล่านี้ให้บรรเทาลดน้อยลงไป

ส่วนสาเหตุของการกระทำการฆ่าตัวตาย ที่พบจำนวนมาก มีดังนี้  1. สาเหตุจากการเจ็บป่วย ซึ่งผู้ป่วยจะกระทำการฆ่าตัวตายเพื่อไม่ต้องการรับความทรมานจากการเจ็บป่วยทางร่างกาย คือผู้ป่วยหนักที่ไม่มีทางรักษาให้หายได้ แต่ได้รับความทรมานจากโรคร้ายที่เป็นอยู่  2. สาเหตุมาจากความเจ็บป่วยทางจิตใจและอารมณ์ เช่น อารมณ์โกรธบันดาลโทสะ อารมณ์หึงหวง และอาการของโรคซึมเศร้าที่ซับซ้อน จากปัญหาความเครียดสะสม ปัญหาการเงิน ปัญหาภาระหน้าที่การงาน การดูแลครอบครัว เหงา น้อยใจ สับสน สูญเสียชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทอง หมดความเคารพนับถือตนเองจนอยากใช้ความตายเป็นทางออกสุดท้าย   3. สาเหตุจากความเชื่อและศรัทธาในทางที่ผิด เช่น พวกตื่นกลัววันสิ้นโลกก็ชักชวนกันให้ฆ่าตัวตายก่อน หรือบางลัทธิ บางสมาคม ก็มีคำสอนให้เชื่อในแนวทางชักชวนกันฆ่าตัวตายเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของคำสอน

ส่วนแนวทางการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายของประเทศไทย อาจแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้

1. ระดับบุคคล (ตนเอง) หมั่นสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่จิตใจของตนเอง โดยการสร้างจุดมุ่งหมายในชีวิต ให้ความสำคัญกับความหวัง และการปล่อยวางในบางเรื่อง หมั่นทำความดี และปฏิบัติตนตามหลักศาสนาที่นับถือ ประกอบกับการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ทั้งในเรื่องชีวิตและร่างกาย การไม่ทำตนเองให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคเอดส์ (การร่วมเพศอย่างปลอดภัยและป้องกันทุกครั้ง) โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต(ลดปัจจัยความเสี่ยงจากโรคร้ายต่างๆ) รวมถึงการไม่ประมาทการดำรงชีวิตด้านเศรษฐกิจและการทำมาหากิน เช่น การรู้จักเก็บออมในรูปแบบต่างๆ การทำประกันชีวิต การทำประกันภัย ในขณะที่สามารถทำงานได้ ทำเงินได้จำนวนมากก็ต้องวางแผนเผื่อความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต

2. ระดับสถาบันโดยเฉพาะสถาบันครอบครัว สถานที่ทำงาน และเพื่อน ต้องมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาการฆ่าตัวตายได้เป็นอย่างมาก โดยวิธีการดังนี้  2.1 การรู้จักรับฟัง การสนใจรับฟังปัญหาที่หนักใจหมดทางแก้ไข ดูเหมือนไร้ทางออกของคนในครอบครัว ของเพื่อนร่วมงาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชา ปัญหาเหล่านี้ถ้าถูกมองข้ามและสะสมอาจเป็นสาเหตุการฆ่าตัวตายได้ การรู้จักรับฟังอย่างเข้าใจเป็นการลดทอนปัญหาได้เป็นอย่างมาก  2.2 การสังเกต ลักษณะบางอย่างของผู้ที่กำลังคิดฆ่าตัวตาย เช่น การใช้ชีวิตที่ผิดไปจากปกติ อาจไม่กิน ไม่นอน ผอมลง ซึมเศร้า ไม่เข้าสังคมเหมือนเดิม ฯลฯ อาการเหล่านี้อาจเป็นสิ่งบอกเหตุให้สามารถดำเนินการแก้ไขและป้องกันได้อย่างทันท่วงที 2.3 การเอาใจใส่แก้ปัญหาร่วมกันอย่างจริงใจ ของสถาบันครอบครัว สถาบันการทำงาน และเพื่อน เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายได้อย่างดีที่สุด

3. ระดับประเทศ  มีหน่วยงานที่สำคัญที่เป็นที่พึ่งและให้คำปรึกษา ดังนี้ 3.1 รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข มีหน่วยงานดูแลด้านปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน คือ กรมสุขภาพจิต โดยสามารถโทรศัพท์มาได้ที่หมายเลข 1323 และ หมายเลข 1667  3.2 วัด และหน่วยงานทางศาสนา ควรเป็นเสาหลักทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณ การจัดกิจกรรมภายในวัดให้แก่ประชาชนควรให้ความสำคัญกับการยกระดับจิตใจเป็นหลัก นอกจากการสร้างกุศลแนววัตถุอย่างเดียว  3.3 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่พึ่งของประชาชนปราการด่านสุดท้ายของปัญหา คือเมื่อพบเหตุการณ์ฉุกเฉินบุคคลกำลังจะฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะด้วยวิธีกระโดดจากตึกสูง กระโดดน้ำ ผูกคอตาย ฯลฯ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในทันที ตำรวจจะรีบเข้ามาระงับเหตุอย่างเร็วที่สุด และมีประสิทธิภาพ

ด้าน "พ.ต.ท.พ.ญ. อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล"  รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติบอกว่า จากสถิติตั้งแต่ปี 2551- 55 พบว่า มีข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตายปีละประมาณ 31 คน อายุระหว่าง 41- 50 ปี ระดับชั้นยศดาบตำรวจมากที่สุด ส่วนใหญ่จะทำงานในสายปราบปราม เพราะเป็นสายทำงานที่มีภาระหน้าที่หนัก สาเหตุเกิดจากโรคซึมเศร้า และความเครียด ทั้งจากเรื่องเงินเดือน สายงานการทำงาน การแต่งตั้งโยกย้าย โดยอาการไม่ได้เป็นตอนสมัครเข้าเป็นตำรวจ แต่จะเริ่มมีอาการหลังจากรับราชการแล้วเจอความเครียดเหล่านั้น สำหรับการบำบัดนั้น ได้มีการแนะนำเรื่องวิธีคิด ที่จะต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับระบบการทำงานให้ได้ แต่หลักง่ายๆในการบำบัด คือ การใช้ sex บำบัด ซึ่ง หมายถึง " s = sleep นอนหลับเพียงพอ"  "e = eat กินอาหารที่มีประโยชน์และพอเหมาะแก่ร่างกาย"  " x = exercise ออกกำลังกายเป็นประจำ"...

ไม่อยากเสียใจควรใส่ใจคนข้างตัวคุณตั้งแต่วันนี้เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนภัยเงียบของสังคมไทย...

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 6 - 9 ต.ค. 2556--