ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวหน้า - นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลง ความร่วมมือในการดำเนินงานพัฒนาเขตบริการสุขภาพ 12 เขต ระหว่างนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการ เขตบริการสุขภาพหรือซีอีโอ(CEO) พร้อมมอบนโยบาย "การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนไทย" โดยมีผู้บริหารระดับสูงทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เข้าร่วมกว่า 400 คน

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า รัฐบาลต้องการ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ของประชาชนคนไทยทุกคน และให้พ้นจากภาวะ ล้มละลายจากรายจ่ายด้านค่ารักษาพยาบาล โดยในปีพ.ศ.2546 เป็นปีแรกที่เริ่มโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ 45 ล้านคน เข้ารับบริการที่ผู้ป่วยนอก เฉลี่ย 2 ครั้งต่อคนต่อปี หรือประมาณ 100 ล้านครั้งต่อปี ส่วนในปี 2556 มีประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพฯ เพิ่มเป็น 48 ล้านคน เข้ารับบริการที่ผู้ป่วยนอก 32 ล้านคน เฉลี่ย 3 ครั้งต่อคนต่อปี หรือประมาณ 160 ล้านครั้งต่อปี โดยในจำนวนนี้ มี 1-2 ล้านคน ที่เข้ารับบริการเกิน 1 ครั้งใน 1 เดือน ทำให้ต้องมาวิเคราะห์ต่อว่า คนไทย 32 ล้านคน ที่เข้ารับบริการ มีสุขภาพเป็นอย่างไรถึงต้องมาโรงพยาบาล และคุณภาพ บริการของโรงพยาบาลดีหรือไม่ ทำไม 16 ล้านคน ถึงไม่มา เพราะสุขภาพดีหรือไปรักษาที่อื่นๆ

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพอยู่ที่ 2 แสนล้านบาทต่อปี  ถ้ารวม 3 ระบบ คือสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และประกันสุขภาพฯ อยู่ที่ 3 แสนล้านบาทต่อปี และยังมีนอกระบบอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท และจะมากขึ้นในอนาคตจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงระบบบริการ เพื่อสร้างความสมดุลของค่าใช้จ่ายกับรายได้ จึงเป็นที่มาของการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นแนวคิดและการศึกษาของหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข คือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขหรือสวรส.และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสปสช. ซึ่งมีความเห็นร่วมกันในการปรับปรุงงานบริการประชาชนให้ดีที่สุด เพื่อให้ประชาชนสุขภาพดี เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ โดยใช้ยุทธศาสตร์ เขตสุขภาพ เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองมากขึ้น  มีการ ใช้ทรัพยากรสูงสุดร่วมกันทั้ง เงิน คน สถานที่ ลดการลงทุนทั้งอาคาร เครื่องมือแพทย์ที่ซ้ำซ้อน โดยดำเนินการทั้งการบริหารและบริการร่วมกัน มีการกำหนด หน้าที่อย่างชัดเจน และจะมีการเพิ่มหน้าที่ที่ขาดหายไปเพิ่มขึ้นด้วย--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 7 ตุลาคม 2556